ทักษะคนเหนือหุ่นยนต์ ยุค AI เทคโอเวอร์

ทักษะคนเหนือหุ่นยนต์ ยุค AI เทคโอเวอร์

ในยุคที่“โรบอต - เอไอ”เข้ามาแย่งงานมนุษย์ ทักษะไหนกัน?ที่ยังคงเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน “คน”เหนือหุ่นยนต์ ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจมนุษย์ด้วยกัน วิเคราะห์เรื่องราวซับซ้อน คือ Soft Skills มาแรง ที่หุ่นยนต์ต้องจำนน..!!  

ทำงานได้หลากหลายทักษะ เป็นเครื่องมือช่วยให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีทั้งระบบอัตโนมัติ (Automate), หุ่นยนต์ (Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) , ทุกสรรพสิ่งล้วนทำงานเชื่อมกับอินเตอร์เน็ท(IoT -Internet of Things), การเรียนรู้จากด้วยเครื่องยนต์ (Machine Learning), บล็อกเชน (Blockchains) และปฏิวัติดิจิทัล (Digitalization) สิ่งต่างๆล้วนมีข้อดีที่ช่วยให้ชีวิตมนุษย์ ง่ายและสะดวกขึ้น 

ทว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกลับกลายเป็น“จุดเสี่ยง”ให้แรงงานหลากหลายทักษะต้องถูกเทคโนโลยียึดครองตลาดแรงงาน ต้องเร่งปรับตัวค้นหาทักษะที่ซับซ้อนกว่าที่กลไกสมองของหุ่นยนต์ยังแทนที่ไม่ได้

ในภาวะที่โลกต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และในโอกาสที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) ครบรอบ 80 ปี จึงได้จัดสัมมนาพิเศษภายใต้หัวข้อ “Flagship Summit 2018: Skills for the Future” โดยมีสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของ QS World University Rakings 2018 คือ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง มาร่วมเป็นวิทยากรเผยถึงข้อมูลของทักษะคนในยุคอนาคต 

Prof.Kar Yan Tam คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUS) เผยถึงผลการศึกษาและแนวโน้มของเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อคนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มมูลค่าของตลาดของหุ่นยนต์ (Robotics) ที่มาใช้ในการทำงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 หรือภายใน 7 ปีข้างหน้า และยอดเงินใช้จ่ายของธุรกิจที่ลงทุนนำระบบอัตโนมัติ (Automate) และ ลงทุนระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการในองค์กร จะขึ้นไปถึง 15,400 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2564 หรือ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ผลกระทบที่ตามมาส่งผลทำให้คนหางานยากขึ้น เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพในการเติบโตมากขึ้น และเกิดอาชีพใหม่ๆในตลาดเพิ่มขึ้น

ที่เห็นได้ชัดเจนจากรายงานของ แมคคินซี แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company) เผยถึงผลศึกษาและวิจัยทำนายอนาคตอาชีพตั้งแต่ปี 2559 พบว่า 5% ของอาชีพการทำงานในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ และสัดส่วน 45% นำเทคโนโลยีทำงานเชื่อมต่อกับคนได้อย่างสมบูรณ์ และลัดส่วน 60% ทุกอาชีพจะเห็นระบบAutomateปะปนอยู่ในฟังก์ชั่นการทำงาน 30%

ทั้งนี้กลุ่มที่มีโอกาสถูกหุ่นยนต์มาแทนที่ได้มากที่สุดถึง 96% คือ กลุ่มที่พนักงานทั่วไป , ระดับโปรแกรมเมอร์ คอมพิวเตอร์ ได้รับผลกระทบ48% และระดับผู้จัดการฝ่ายปฏิบ้ัติการ ได้รับผลกระทบ16%

ในอีก 12 ข้างหน้า เมื่อธุรกิจเปลี่ยนไปก็จะมีธุรกิจเกิดใหม่ มาพร้อมกันกับอาชีพใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ทักษะเดิม ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านอาชีพ ในปัจจุบันที่อาจจะไม่มีความหมายเลยในอนาคต ซึ่งผลวิจัยพบว่ากว่า 85% ของหลักสูตรการศึกษาที่สอนในห้องเรียนในปัจจุบัน จะไม่ถูกนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองในอนาคต

นี่คือสัญญาณเตือนให้รัฐบาล สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจต้องร่วมมือพัฒนาทักษะให้คนพร้อมก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในทักษะใหม่ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ อุดหนุนภาษี จูงใจให้เกิดการลงทุนพัฒนาพนักงาน

เขายังกล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาควรมุ่งพัฒนาคนให้มี ทักษะที่หุ่นยนต์และเทคโนโลยีทำแทนไม่ได้ ประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking), การเข้าใจคนอย่างลึกซึ้ง (Empathy) และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีความคิดเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) และ ทำงานรวมกับผู้อื่น (Collaboration)

“ทักษะที่ต้องการในอนาคตที่คนจะต้องเรียนรู้และยกระดับทักษะตัวเอง คือ ความพร้อมคิดวิเคราะห์ที่จะทำงานเป็นผู้ประกอบการ พร้อมรับความเสี่ยง มีความเห็นอกเห็นใจเข้าใจจิตใจมนุษย์ และทำงานร่วมกันเป็นทีมกับคนทั่วไปได้ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานนอกห้องเรียน มากกว่าสอนในหลักสูตร”

**ปั้นสังคม Lifelong learning 

ด้าน Prof. HUM Sin Hoon จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore -NUS) มองว่า ภาคการศึกษา จึงต้องทำงานคู่ขนานกันกับรัฐบาลเพื่อสร้างทักษะแรงงานที่ระบบเทคโนโลยี หรือ หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่คนไม่ได้ในยุคหน้า แรงงานในรุ่นถัดไป จึงต้องเตรียมพร้อมอัพเกรดตัวเอง

เขาฉายให้เห็นถึงทักษะความจำเป็นต่อโลกการทำงานในอนาคตที่โดดเด่นมี 3 ด้านคือ การวิเคราะห์ข้อมูล อ่านข้อมูลได้ Data Literacy ,การเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกับการทำงานของคน (Technology Literacy) ,มีการเข้าใจมนุษย์ ทำงานร่วมกันได้ และมีทักษะการสื่อสาร หลอมรวมการนำเชื่อมโยงแต่ละหน่วยงานให้เป็นทีมเดียวกัน (Human Literacy)

“ต้องการทักษะคนที่3 ด้าน คือ เก่งด้านข้อมูล และเทคโนโลยี (Data Science & Analytics-DSA) รวมถึงการทำงานกับคนเชื่อมกับเทคโนโลยี”

เขายกข้อมูลว่า 65% ของผู้ที่เรียนหนังสือในยุคปัจจุบันจะไม่มีอาชีพรองรับในอนาคต นั่นหมายถึงสิ่งที่เรียนในวันนี้ อาจจะไปทำงานด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียนมา นี่จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญของการพัฒนาทักษะในยุคหน้าจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา

พลวัฒน์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และเทคโนโลยีมีต่อเนื่องตลอดเวลา คนที่จะทำงานในยุคหน้าจึงต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นทักษะที่มนุษย์ยุคหน้าแรงงานจะต้องมีคือ การเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning ) เพื่อที่ทำงานควบคู่กับหุ่นยนต์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือระบบเทคโนโลยี ที่เข้าใจทิศทางนโยบายของชาติ และมองเป้าหมายไปที่การสร้างทักษะและค้นหาองค์ความรู้ ฝึกทักษะให้กับตัวเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

สิงคโปร์กำลังก้าวเข้าไปลงทุนวางระบบการสร้างวัฒนธรรมเรียนรู้ตลอดเวลา Lifelong learning ซึ่ง NUS เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาประชากรสิงคโปร์กว่า 3 ล้านคนในอีก 50 ปีข้างหน้า ต่อจากอายุประเทศสิงคโปร์ที่ 50 ปีจะต้องมองระยะยาวด้านการสร้างคนไปถึงอายุประเทศ 100 ปี

ประกอบด้วย 3 หลักสูตรคือการศึกษาก่อนเข้าสู่อาชีพ ( PET Modules -pre employment and training) การเรียนในมหาวิทยาลัย , การอบรม เรียนรู้ระหว่างทำงาน หลังจบจามหาวิทยาลัยก็เรียนรู้ต่อเนื่อง (CET Modules- continuing Education and Training) และหลักสูตรการเรียนการสอนฟรีที่มีอยู่ทั่วไป (Free Modules)

“สิงคโปร์เริ่มผลักดันให้เกิดการเทรนด์หลังจากจบการศึกษาให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านหลักสูตรต่างๆมากขึ้น” เขากล่าว

---------------

ห่วงแรงงานไทย“แซนวิช” ถูกเขี่ยจากตลาด

รศ.พร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเมืองไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติไม่เท่ากันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นจุดเสี่ยงสำคัญในการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือ โลกการพัฒนาดิจิทัล แห่งศตวรรษที่ 21

ต้องยอมรับว่าการศึกษาที่มีในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและโลกอนาคต ที่ต้องการทักษะที่หลากหลายแตกต่างจากการเรียนการสอนในปัจจุบัน ดังที่ผลวิจัยของศาสตราจารย์จากฮ่องกงชี้ว่า 85% ของอาชีพในปัจจุบันจะมีอาชีพใหม่ในอนาคตเข้ามาแทนที่

“ทักษะแรงงานในโลกอนาคตต้องการจะมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่ เช่นเดียวกันกับตลาดแรงงาน และกลุ่มอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมาทดแทนแรงงานในยุคเดิม พร้อมกันกับการเกิดขึ้นของบางส่วนมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่”เขากล่าว

ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแย่งอาชีพจากแรงงานต่างชาติ ที่เห็นเด่นชัดคือทักษะแรงงานสูง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมืองไทยยังขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง ขณะเดียวกันแรงงานระดับล่างที่ใช้แรงงาน ก็ถูกแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพในไทยมากขึ้น และบางส่วนก็ถูกแทนที่แรงงานไทยถูกบีบอยู่ตรงกลาง

แรงงานไทยกำลังถูกอัดเป็น”แซนวิช”โดนทั้งข้างบน และระดับล่างมาแย่งชิงอาชีพ คนไทยอยู่ตรงกลางที่ต้องยกระดับตัวเองแรงขับเคลื่อนสำคัญคือผู้บริโภค ที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจที่ค้นหาการบริการใหม่ ปรับตัวบุคลากรมารองรับความผันแปรในยุคปัจจุบัน 

การปฏิรูปประเทศในด้านทรัพยากรบุคคล เตรียมพร้อมบุคลากร ฝึกทักษะให้พร้อมรองรับก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตามความต้องการในศตวรรษที่21 ต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งองคาพยพตั้งแต่ ภาคนโยบาย สถาบันการศึกษา จนถึงภาคธุรกิจ 

เขามองว่าไทยยังไม่ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงแบบถึงขีดสุดทั้งองค์รวม แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองในองค์กรใหญ่ๆ ชั้นนำของประเทศ แต่ก็ทำได้แค่เพียงการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่สิ่งที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบพลิกองค์กรคือ “คน” สำคัญที่สุดในการเป็นกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค สองสิ่งนี้ คือปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตลาด และภาพรวม

ที่สำคัญที่สุด ระบบการศึกษายังไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อผลศึกษาได้สะท้อนว่าสิ่งที่เรียนในห้องเรียน จะไม่มีปรากฏในอาชีพอนาคต ที่เห็นเด่นชัดคือ นักตรวจสอบบัญชี อาจจะมีบล็อกเชนเข้ามาแทนที่ ดังนั้นจะต้องมีอาชีพใหม่ๆ ที่เพิ่มทักษะให้กับผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการนำข้อมูลมาจับ รวมไปถึงนักการตลาดจะไม่เป็นนักการตลาดแบบเดิม แต่จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์เทรนด์และแนวโน้มการซื้อสินค้า รวมถึงโอกาสการขาย 

“สถาบันการศึกษาต้องรีบปรับตัวแม้แต่จุฬาฯ แม้วันนี้จะมีผู้ที่ยังอยากเข้าเรียน แต่หากรออีก 10 ปีหากเริ่มปรับตัวก็ไม่ทันเพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะถูกยุบทิ้ง หรือไปรวมกับการเรียนรู้ใหม่ประมาณ 50-60 % ในอีก 10 ปีข้างหน้า” 

เขายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาในยุคปัจจุบันคือประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น การดึงผู้บริหาร ซีอีโอ หรือศิษย์เก่าเข้ามาเป็นที่ปรึกษา (Mentor) ในการเรียน การพัฒนาตัวเอง รวมถึงวิชาที่เรียนกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มุ่งเน้นกิจกรรมนอกหลักสูตรมากขึ้น รวมถึงการออกแบบหลักสูตรออนไลน์ ที่เข้ามาเรียนได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันมีคนลงเรียนแล้วกว่า 100,000 คน รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เท่ากันกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

เขายอมรับว่า การศึกษาไทยและแนวทางการสร้างทรัพยากรบุคคลของไทยยังก้าวตามหลังสิงคโปร์อยู่หลายก้าว เพราะสิงคโปร์มีการวางแผนมายาวนาน และฮ่องกงเพิ่งเริ่มต้น แต่ของไทย ยังห่างไกลคำว่าปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งยอมรับว่าไทยมีความซับซ้อนกว่าประเทศเล็กๆ อยู่มาก เพราะประชากรเกือบ 70ล้านคน และมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ จึงเป็นข้อเสียเปรียบที่ในการปรับตัวให้รวดเร็ว ในไม่ช้าคนไทยอาจจะขาดทักษะในการเตรียมพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

----------------------------------------------

“ซอฟต์สกิล”ปั้นคนเหนือหุ่นยนต์

ด้านดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโท แบรนด์และการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง 3 คุณสมบัติผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรและเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใบใหม่ ประกอบด้วย 

1. การเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ (Change Management) วางวิสัยทัศน์ที่ทำให้คนในองค์กรมองเห็นเรื่องราว เป้าหมายและอนาคตร่วมกัน เพื่อผลักดันให้ไปถึงฝันด้วยกันเป็นทีม

 2. เป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring Actions) และสร้างความสัมพันธ์ กระตุ้นพลังใจให้ทำงาน ซึ่งผู้นำคนรุ่นใหม่ต้องให้โอกาสในการแสดงความสามารถในการทำงานและการเรียนรู้ โดยการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ,ให้ออกแบบวางแผนงานที่รับผิดชอบในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยผู้นำเป็นต้นแบบที่ดี รวมถึง ให้อำนาจในการตัดสินใจ และเป็นผู้ตั้งคำถามที่สะท้อนความคิดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

 และ 3.ความคิด (Thinking) มีการคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic) มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) และ เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Initiate Change)

เขามองว่า การทำงานกับคนในยุคอนาคต มนุษย์ก็ยังเหนือกว่าหุ่นยนต์ตรงที่ ความเข้าใจจิตใจและความต้องการคน เพราะมนุษย์มีอารมณ์(Emotional) และความรู้สึก (Sense) หรือ เราเรียกว่า Deep Soft Skill ในการอ่านใจคน สื่อสารคนให้ทำงานร่วมกัน

“ทักษะมนุษย์เรื่องการอ่านจิตใจคน เข้าใจสีหน้า อารมณ์ความรู้สึก คือสิ่งที่หุ่นยนต์ ทำไม่ได้ รวมถึงการเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้คือทักษะความเป็นมนุษย์ที่ต้องฝึกฝน ยกระดับพัฒนาการสื่อสาร ให้ทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้” เขาให้มุมมอง

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการนำไปสู่การปฏิบัติในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้เท่าทันยุคดิจิทัล ยังคงอยู่ที่การเรียนรู้ตลอดเวลา และยอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงฝึกฝนให้เป็นคนคิดวิเคราะห์และมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นองค์รวม (Holistic Thinking)