‘ฟาร์มโตะ’ เกษตรส่งถึงมือลูกค้า

‘ฟาร์มโตะ’ เกษตรส่งถึงมือลูกค้า

ความไม่แน่นอนในการขายผลผลิตของเกษตรกร กับความไม่แน่ใจในที่มาของพืชผลของผู้บริโภค จะหมดไปเมื่อ “ฟาร์มโตะ” เปิดแพลตฟอร์มเชื่อม 2 ฝ่าย ผ่านระบบเจ้าของร่วมผลผลิตการเกษตร ได้เงินก่อนปลูกในราคาที่ตั้งเอง “เอบีซี เซ็นเตอร์” ชี้ตอบเทรนด์เทคโนโลยีหนุนเกษตรรุ่

จากที่เคยทำเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่มีตลาดหรือช่องทางการขายที่แน่นอน “อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” พยายามมองหาช่องทางขายใหม่ๆ ให้กับผลผลิตทางการเกษตร จนเกิดเป็น “ฟาร์มโตะ” (FARMTO) ระบบการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศไทย ที่นอกจากเกษตรกรจะมีช่องทางและรายได้ที่แน่นอน ผู้บริโภคยังได้สินค้าที่สด ใหม่ รู้ที่มาที่ไปพร้อมประสบการณ์และการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมแบบครบทุกมิติ

เชื่อมผู้ปลูก-ผู้ซื้อ

อาทิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟาร์มโตะ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวภายในการสัมมนา “การสร้างตลาดรูปแบบใหม่สำหรับการเกษตร” จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC center) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ว่า ปัญหาวงการเกษตรกรรมไทยมาจากมูลค่าและราคาผลผลิตตกต่ำ รวมถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 

“การกดราคา ระบบพ่อค้าคนกลาง การทำเกษตรโดยไม่รู้ความต้องการของตลาด เป็นปัญหาของเกษตรกร เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ไม่รู้ที่มาที่ไปของผลผลิต กังวลเรื่องความสดใหม่ และต้องซื้อสินค้าที่ราคาแพง จึงอยากสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางแก้ปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย”

ฟาร์มโตะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถจองสินค้าเกษตรตั้งแต่เริ่มปลูก เป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ โดยจะได้รับข้อมูลพื้นที่ที่ตนเป็นเจ้าของร่วมตลอดเวลา มีกิจกรรมและสามารถมาเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อถึงเวลาหากต้องการทำด้วยตนเอง โดยที่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ตั้งแต่เริ่มปลูก

ยกตัวอย่างโครงการต้นแบบนาข้าวหอมปทุมธานีออร์แกนิก 2 ไร่และนาข้าวไรซ์เบอร์รี 1 ไร่ ที่มีการแบ่งแปลงหลังคำนวณพื้นที่ที่จะเก็บเกี่ยวได้ข้าว 1 กิโลกรัม และเปิดให้จองผ่านเว็บไซต์ฟาร์มโตะ ซึ่งมีการจองเข้ามากว่า 75% ของพื้นที่ โดยระหว่างการปลูกก็มีการถ่ายภาพอัพเดทแปลงให้เจ้าของร่วม รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดให้เจ้าของร่วมมาทำด้วยกัน

“รายได้จากแพลตฟอร์มนี้มาจากลูกค้า ซึ่งเมื่อจ่ายเงินค่าผลผลิตจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งจะแบ่งให้เกษตรกรโดยจ่ายเป็นรายเดือนตามระยะเวลาการเพาะปลูก อีกครึ่งหนึ่งจะจ่ายเมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภคแล้ว โดยฟาร์มโตะจะได้ค่าบริหารจัดการ 20%” อาทิตย์ อธิบาย

การตอบรับของฟาร์มโตะเป็นไปในทิศทางที่ดี มีเกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วม ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในเครือข่ายก็สามารถต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม หรือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

ผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มโตะ กล่าวอีกว่า หลังการพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปของแอพพลิเคชันมือถือ และเปิดให้เกษตรกรสามารถอัพเดทแปลงเกษตรได้สะดวกรวดเร็วขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2561 คาดว่าจะพร้อมให้ผู้บริโภคเข้าใช้งานในช่วงต้นปี 2562 และเตรียมที่จะขยายบริการของฟาร์มโตะ อาทิ การทำคราวด์ฟันดิ้งสำหรับเกษตรกร หรือบริการเช่ารถขนส่งหรือเครื่องมือการเกษตรต่างๆ อีกด้วย

เกาะเทรนด์ ตอบดีมานด์

มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรมของเอบีซี เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ทิศทางการเกษตรในอนาคต จำเป็นต้องตอบเทรนด์เทคโนโลยีการเกษตรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับแวดวงเกษตรกรรมไทย แนวโน้มจะมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ ระบบออโตเมชั่น IoT บิ๊กดาต้า ฯลฯ, ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง, สร้างการเกษตรแบบลีน (Lean), สร้างตลาดเสรี และผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเกษตร

ทั้งนี้ เอบีซีเซ็นเตอร์มุ่งที่จะผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มการเกษตรไทยใน 7 เซคเตอร์ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตรดิจิทัล หุ่นยนต์และออโตเมชั่น โลจิสติกส์และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ไบโอรีไฟเนอรี การบริการ และนิวฟาร์มมิ่งโมเดล  

เป้าหมายปลายทางของการผลักดันคือ การปรับตัวในวงการเกษตรไทยไปสู่ตลาดการเกษตรรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรตอบความท้าทายของปัจจุบัน จะช่วยให้เกษตรกรไทยเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน