'ซิสโก้' โชว์วิชั่น 2562 ปักธงเมกะเทรนด์ดิจิทัล

'ซิสโก้' โชว์วิชั่น 2562  ปักธงเมกะเทรนด์ดิจิทัล

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เส้นทางท้าทายที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องก้าวผ่านไปให้ได้

การทำ “บิซิเนส ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ท่ามกลางคลื่นดิจิทัลที่รุนแรง สร้างผลกระทบได้แบบเฉียบพลัน นับเป็นเส้นทางท้าทายที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องก้าวผ่านไปให้ได้ โดยสมการที่ต้องแก้ไม่ใช่เพียงการสร้างรายได้ ผลกำไร แต่คือความอยู่รอด ปูทางให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน มีมุมมองว่า โจทย์ท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญประกอบด้วย การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพ พร้อมรับมือกับความผันผวนของตลาด แรงกดดัน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเชิงบวกต่อทั้งองค์กร การบริหารจัดการ โมเดลการสร้างรายได้ การดูแลลูกค้าฯลฯ

สำหรับซิสโก้ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยี แนวทางธุรกิจปีงบประมาณ 2562 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้นำทางความคิด ผลักดันให้ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจเกิดการตระหนักรู้ เข้าใจถึงการลงทุนทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยกลุ่มลูกค้าที่โฟกัสคือ การเงินการธนาคาร การผลิต ภาครัฐ และการศึกษา

นอกจากนี้ มุ่งพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มพันธมิตรรายใหม่ๆ พร้อมผลักดันให้คู่ค้าเดิมที่มีอยู่กว่า 800 รายยกระดับการขายจากแบบดั้งเดิมไปสู่โซลูชั่นเวนเดอร์ มากกว่านั้นแตกไลน์การให้บริการโมเดลธุรกิจใหม่ๆ โดยขณะนี้เริ่มเข้าไปพูดคุยเพื่อเตรียมทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งเชิงกิจกรรมการตลาด และการขายมากขึ้น

ส่วนในเชิงเทคโนโลยี จุดยืนของซิสโก้จะไม่ใช่เพียงผู้ให้บริการด้านเน็ตเวิร์ค แต่มีความพร้อมที่จะให้บริการโซลูชั่นด้านไอที ช่วยองค์กรธุรกิจเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัล รับโอกาสการมาของเมกะเทรนด์ไอทีอย่าง 5จี, มัลติคลาวด์, ปัญญาประดิษษ์(เอไอ), แมชีนเลิร์นนิง, ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ รวมถึงโซเชียลอินโนเวชั่นต่างๆ

“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะบริการด้านคลาวด์ และไซเบอร์ซิเคียวริตี้ซึ่งบริษัทเองเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก หากไม่มีปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจเข้ามากระทบเชื่อว่าจะเติบโตได้อีกมาก"

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญที่สร้างรายได้อันดับท็อป 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ไตรมาสล่าสุดยังรั้งอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิกด้วย 

"ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และบางปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน เช่นการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อการลงทุนในภาครัฐ ทว่าซิสโก้มีความมั่นใจว่ามีจุดยืนที่แข็งแกร่ง สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลาย นอกจากองค์กรขนาดใหญ่ จากนี้จะมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าระดับกลางและเล็กเข้ามามากขึ้น ผมเชื่อด้วยว่าภาพรวมการลงทุนไอทีในไทยยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ โจทย์คือทำอย่างไรจะให้ระดับกลางและเล็กเข้ามามากขึ้น”

อาเซียนมั่นใจสูงสุด

ผลการศึกษาโดยซิสโก้เผยว่า บริษัทในภูมิภาคอาเซียนมีความมั่นใจสูงสุดเกี่ยวกับความพร้อมด้านดิจิทัลเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัท 94% ใน 6 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในอาเซียนมั่นใจว่า กลยุทธ์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

นอกจากนี้ บริษัท 93% กล่าวว่ามีความพร้อมเพียงพอในการปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ขณะที่ 84% มีความมั่นใจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผู้บริหารฝ่ายไอทีมีมุมมองว่า เทคโนโลยีคลาวด์, ไซเบอร์ซิเคียวริตี้, บิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงระบบงานอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรธุรกิจในการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัล

ส่วนอุปสรรคที่ขัดขวางในการปรับใช้เทคโนโลยี หลักๆ คือ งบประมาณที่จำกัด การขาดแคลนบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ไม่เหมาะสม

มั่นใจสูงแต่ปรับใช้ยังต่ำ

ขณะที่บริษัทต่างๆ ในอาเซียนมีความพร้อมในการเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ระดับความเชื่อมั่นก็แตกต่างหลากหลายกันไป ผลการศึกษาชี้ว่า ผู้บริหารฝ่ายไอที 19% ในองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 1 หมื่นคน ไม่คิดว่าองค์กรของตนมีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ต่างกับบริษัทขนาดเล็กที่มีเพียง 7% ซึ่งคิดว่ายังไม่พร้อม

ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าและเพิ่งเปิดดำเนินงานมาไม่นานไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัยและฐานผู้ใช้จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ดีกว่า เร็วกว่าในการพัฒนาระบบไอที

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความมั่นใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัลของธุรกิจจะอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราการปรับใช้เทคโนโลยียังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในภูมิภาคนี้

กล่าวคือ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามในอาเซียน มีเพียง 60% เท่านั้นที่เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์, 59% สำหรับโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์, 55% เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และ 48% ระบบงานอัตโนมัติ

แม้กระทั่งในส่วนของไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปรากฏว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือ 47% ยอมรับว่าองค์กรของตนใช้แนวทางป้องกันเชิงรับ และติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยและทำการอัพเกรดระบบเฉพาะหลังจากที่เกิดปัญหาการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยแล้วเท่านั้น

ขาดงบประมาณ-บุคลากร

ผู้บริหารฝ่ายไอที 47% ชี้ว่าอัตราการปรับใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ 43% บอกว่าขาดแคลนบุคลากร และ 42% โครงสร้างพื้นฐานไอทีไม่เหมาะสม

แม้ว่าผู้บริหารฝ่ายไอที 92% ในอาเซียนระบุว่าบริษัทของตนได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย ทั้งในส่วนของเครือข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 46% ยอมรับว่าบริษัทได้ละเลยเรื่องนวัตกรรมและบริการหลังการขาย เพื่อแลกกับราคาโดยรวมที่ถูกลง

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจโดยพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นหลักส่งผลให้ผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่าหนึ่งในสาม หรือ 37% ไม่กล้าตัดสินใจและไม่มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่องค์กรมีอยู่จะสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

การศึกษาดังกล่าวได้ทำการสัมภาษณ์ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไอที 1,325 คนในบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนในภาคการผลิต การศึกษา ค้าปลีก บริการด้านการเงิน ภาครัฐ และสาธารณสุข ในประเทศออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม