เปิดถังความคิดคนรุ่นใหม่ แก้โจทย์ “สังคมผู้สูงวัย”

เปิดถังความคิดคนรุ่นใหม่ แก้โจทย์ “สังคมผู้สูงวัย”

สังคมผู้สูงวัยคือโจทย์ใหญ่ของไทย ที่กำลังเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ สถาบันทีดีอาร์ไอ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะ กำลังหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมในยุคหน้า

  

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คลังสมองที่หน้าที่วิจัยและออกแบบนโยบายสาธารณะของประเทศ ได้จัดเวทีประลองความคิด “Redesign Thailand”เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยรวมกลุ่มออกแบบและนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2557 ปีนี้เป็นปีที่ 5 ในปี2561 ภายใต้โจทย์“Redesigning Thailand#5 จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” ปัญหาหลักของประเทศ เมื่อคนสูงวัยที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้น แต่ประเทศกลับมีรายได้ระดับปานกลาง จึงเชิญคนรุ่นใหม่ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอีก 5-10 ปีข้างหน้ามาช่วยออกแบบทิศทางการเดินของประเทศในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี ทั้งหมด 11 ล้านคน จากประชากร 66 ล้านคน หรือสัดส่วน 16.8% คาดการณ์ว่าประชากรวันทำงานจะลดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์ โดยกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2508-2523 กลุ่มคนเจนเอ็กซ์จะก้าวเป็นผู้สูงวัย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่าปัญหาสังคมผู้สูงวัย เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่อาจจะตกอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวย” ต้องออกจากกลุ่มวัยทำงาน รายได้ลดลง ซึ่งนโยบายสาธารณะในยุคปัจจุบัน จะต้องสื่อสารกับคนทุกภาคส่วนในสังคม การดึงให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นการสร้างโอกาสในการสื่อสาร และสร้างประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมนำเสนอแนวคิดใหม่ ต่อโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่คนเหล่านี้จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ

ทั้งนี้ นโยบายที่ได้จากการคัดเลือก 6 ทีมที่มีแนวคิดโดดเด่น จากผู้สมัครเข้ามากว่า 30ทีม ถือเป็นแนวทางและเป็นทางเลือกในการนำไปปรับใช้กับผลงานวิจัย ในบางส่วนได้ โดยเฉพาะการให้มุมมองของผู้ที่ได้รับรางวัลนโยบาย “Gen X: AGING With Vitality” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปรับทัศนคติ ให้มองคนผู้สูงอายุในบริบทใหม่ มีพลัง มีความพร้อมเรื่องการเงิน และการออม ที่ยังสร้างประโยชน์ได้อีกมาก เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดต่อสังคมผู้สูงวัยที่ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาประเทศในเชิงบวก 

สำหรับแนวคิดของ 6 ทีมที่เข้าร่วมโครงการ มีความโดดเด่นแตกต่างกัน โดยทีมที่1 “นโยบาย “Smart Age Model” เขย่าสังคมสูงวัย จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รางวัลชมเชย ในการพัฒนานวัตกรรมสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีอายุและมีคุณภาพ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม (ทุนทางสังคม) รวมถึงใช้งบประมาณและสถานที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอยู่ 7,852 ทั่วประเทศ ออกแบบกิจกรรมในการสร้างคุณค่าผ่านกิจกรรม สร้างอาชีพ และสร้างมูลค่าทรัพย์สิน และให้เข้าถึงทรัพยากรด้วยกิจกรรม การรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อระดมทุนสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงระบบบริการทางสังคมส่งเสริมการบริหารจัดการด้านอาชีพ สังคม นันทนาการ รวมไปถึงการรักษาสุขภาวะอนามัยในโรงพยาบาล

ทีมที่ 2 นโยบาย สร้างสุขภาวะจิต เตรียมพร้อม Gen X : Aging With Vitality รับมือสังคมสูงวัย จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ซึ่งแนวคิดกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคนวัยเจนเอ็กซ์ (Gen X) ที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมปรับทัศนคติ ไม่คิดว่าผู้อยู่วัยชรา เป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” จึงต้องเตรียมพร้อมให้ปรับตัว หันกลับมาพัฒนาตัวเอง และมองคนสูงวัย ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบัน จึงต้องลดช่องว่างของระหว่างวัย ด้วยการปรับทัศนคติให้เท่าทันกระแสและความเปลี่ยนแปลง มองทุกวัยสามารถทำประโยชน์ให้กับตัวเอง และสังคมได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากการสื่อสารสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงวัย ผ่านสื่อสาร ไลฟ์สไตล์สูงวัยยุคใหม่กระฉับกระเฉง ที่หันมาดูแลตัวเองสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

ทีมที่ 3 นโยบาย เกษียณอย่างมั่นใจขับเคลื่อนแรงงานสูงวัยอย่างยั่งยืน จากคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชมเชย ซึ่งมองเห็นปัญหาของคนในวัยทำงานที่ลดลง จนตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน จึงเสนอทางออกในการจัดแพ็คเกจการเตรียมพร้อมวัยเกษียณ 2 ทางเลือก A กับ B ที่แต่ละแพ็คเกจจะถูกแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ ต้องการพึ่งพารัฐ โดยใช้สวัสดิการด้านสุขภาพ ที่อยูอาศัย เบี้ยเลี้ยงชีพในแต่ละเดือน กรณีที่ไม่ต้องการพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐก็จะรับเป็นเงินก้อน ซึ่งแพ็คเกจมีการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน เพื่อนำเข้าไปบริหารจัดการสวัสดิการในระยะยาว โดยเป้าหมายดึงดูดให้ผู้สูงอายุเข้าสู่สังคมแรงงานได้ถึง 65 ปี เป็นฐานแรงงานของประเทศ

ทีมที่ 4 นโยบาย ปฏิรูปวัฏจักรการทำงานที่สร้างพลังสดใหม่ ” จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลชนะเลิศอันดับ2มองถึงการเข้าไปแก้โจทย์ ผู้สูงวัยที่มีรายได้ไม่เพียงพอดำรงชีวิตหลังเกษียณด้วยมาตรการทางภาษี โดยจูงใจให้ผู้ประกอบการจ้างงานผู้สูงวัย ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างงานผู้สูงวัย และส่วนมาตรการเชิงลบโดยมาตรการภาษีมรดกโดยคิดตามฐานมรดกที่ได้รับเพิ่มขึ้น เพื่อจัดสรรสวัสดิการเพื่อผู้สูงวัยโดยแบ่งเป็น การลงทุนในด้านระบบ ประกันการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan) สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย และนำไปใช้เพื่อการวางระบบ โครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุในรูปแบบ Universal Design เพื่อให้ได้เข้าถึงการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตการ ทำงานตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ช่วยสร้างรายได้ตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ผ่านมาตรการภาษี แก้ปัญหาทางการคลังที่ยั่งยืน เพราะลดความรุนแรงต่อผลกระทบทางตรงแต่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว

ทีมที่ 5 นโยบาย ระยะสั้น-ยาว แก้ขาดแคลนแรงงานในอนาคต” จากคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รางวัลชมเชย มองว่าปัญหาหลักของสังคมผู้สูงวัยคือภาระทางการคลัง เพราะผู้สูงอายุ 1 ใน3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงมีแนวคิดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ (Elderly Fund) ส่งเสริมการออมในวัยเกษียณ และนำเงินกองทุนมาช่วยสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการผู้สูงอายุ ที่มีโอกาสเติบโต และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมดูแลผู้สูงวัย รวมไปถึงการเก็บภาษีคนโสดแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน กระตุ้นให้คนมีบุตรเพิ่มขึ้น

และทีมที่6 นโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน คุณภาพชีวิต” จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 มีแนวคิดเข้าไปแก้ไขปัญหาแรงงานลดลง และภาระค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น จึงออกแบบนโยบายระบบภาษี ลดหย่อนภาษีจากการสั่งซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทดแทนการผลิตแทนแรงงานที่ลดลงพร้อมรับมือกับยุคดิจิทัล เตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย โดยจัดสรรเงินบำเหน็จ บำนาญและประกันสังคมผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพ

ธมกร จันทร์สว่าง นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มที่2 เจ้าของโมเดล Gen X: Aging With Vitality ได้รับรางวัลชนะเลิศ เผยถึงแนวคิดของการปรับทัศนคติให้มองคนสูงวัยคือวัยที่พลังจากภายในตัวเอง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือกับนโยบายภาครัฐในการก้าวพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งต้องเริ่มต้นจากคนGen X ปรับทัศนคติที่ต้องใช้เวลา เพื่อเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยในอีก 15 ปีข้างหน้า