‘นิด้าโพล’ เผยประชาชน 61.92% มองภาพรวมศก.ไทยแย่ลง

‘นิด้าโพล’ เผยประชาชน 61.92% มองภาพรวมศก.ไทยแย่ลง

"นิด้าโพล" เผยคน 61.92% มอง 1 ปีที่ผ่านมาภารวมเศรษฐกิจไทยแย่ลง เชื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ดีขึ้น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย ในปี 2561” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง ด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.92 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 27.12 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม และร้อยละ 10.96 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น

ด้านนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากเห็นจากพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.60 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับรับซื้ออุดหนุนพืชผลทางเกษตร และพัฒนาสินค้าทางการเกษตร รองลงมา ร้อยละ 23.12 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ 22.00 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการจ้างงาน เพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน และแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 21.44 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการควบคุมราคาสินค้า การผูกขาดทางการค้า การค้าขายอย่างเสรี ร้อยละ 14.00 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับลดอัตราภาษี ร้อยละ 10.96 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และนโยบายเกี่ยวกับการมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 6.80 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และธุรกิจ Startup ร้อยละ 5.76 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมประสิทธิภาพในการเพิ่มการส่งออกของประเทศ ร้อยละ 4.24 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจความเจริญไปตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาค ร้อยละ 3.28 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น การคมนาคม ถนน รถไฟ และร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าครองชีพ (เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง) และนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนว่าหลังจากมีการเลือกตั้ง ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.16 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น เพราะ มีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศได้ดีกว่า และต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 31.60 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ยาก ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็เหมือนเดิม ร้อยละ 4.56 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง เพราะ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.80 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.36 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.92 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 22.16 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 95.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.80 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 18.24 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 76.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.08 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 32.16 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.16 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.40 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.92 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.88 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.84 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.32 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.44 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.68 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 14.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 28.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.96 ไม่ระบุรายได้

NIDA-Poll-ประชาชนคิดอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในปี-2561-678x1024