‘นายกฯ’ มอบ 'รมว.อดุลย์' เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

‘นายกฯ’ มอบ 'รมว.อดุลย์' เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

"พล.ต.อ.อดุลย์"  เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล จัดทีมแพทย์พยาบาล จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพแรงงาน  ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตาย ตั้งแต่ 27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 พร้อมจ่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแรงงานอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง เร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องประชุมศ. นิคม  ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า แรงงานไทยในอิสราเอลถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งสภาพการทำงานยังไม่ตรงตามสัญญา และมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 170 คนนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้นิ่งนอนใจ ทั้งยังมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ตลอด และเร่งช่วยเหลือทันที ซึ่งในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสำนักงานแรงงานในประเทศอิสราเอล (กรุงเทลอาวีฟ) นำคณะแพทย์และพยาบาลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตายด้วยเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ EKG และลงพื้นที่ที่มีประวัติแรงงานใหลตาย โดยเน้นหนักไปที่การศึกษาและประเมินสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ เพื่อศึกษาและประเมินหาปัจจัยบ่งชี้ของสาเหตุการใหลตายให้กับแรงงานไทยในอิสราเอล ช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2561 และสั่งกำชับให้ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และแก้ไขต่อไป  โดยได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับอัครราชทูตฯ มาอย่างต่อเนื่อง 

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ลงนามในข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอล เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ระยะเวลาการจ้างครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอิสราเอล เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 47,000 บาท ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน จะผ่านกระบวนการคัดเลือก รวมถึงการตรวจสุขภาพว่ามีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลหรือไม่ 

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน มีมาตรการในการติดตามคุ้มครองดูแลให้แรงงานไทยในอิสราเอลได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งจากกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ในปีที่ผ่านมา สามารถเรียกร้องเงินชดเชยให้แก่แรงงานไทยได้กว่า 47 ล้านบาท และในเร็วๆ นี้ รมว. แรงงานและคณะ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเข้าไปดูแลติดตามสถานการณ์ พบปะพูดคุยกับแรงงานไทย เพื่อรับทราบปัญหา และหาทางช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแรงงานมีปัญหาเกิดขึ้น สามารถร้องเรียนขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอล