คืบหน้า 'ร่างกฎหมายกีฬามวย'

คืบหน้า 'ร่างกฎหมายกีฬามวย'

การเมืองในห้วงนี้คงไม่มีอะไรที่เคลื่อนไหวน่าตื่นเต้นเท่า การรอวัน "ปลดล็อก" คำสั่ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" เพื่อให้ "นักการเมือง-พรรคการเมือง" ลงสนามแข่งขันเลือกตั้งได้แบบไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ


ซึ่งวันที่ 7 ธ.ค.2561 ในวงหารือของ คสช. กับพรรคการเมือง รวมถึงหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นที่ “รู้เรื่อง”

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกเพื่อให้ “นักการเมือง” ทำกิจกรรมทางการเมือง ยังมีประเด็นที่ “ฝ่ายความมั่นคง” ยังกังวลถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะเมื่อปลดล็อก แน่นอนว่า“ฝ่ายที่จองกฐิน” คงไม่หยุดเฉย และนั่นต้องยอมรับว่า “กระเทือน” ถึง “นักเลือกตั้ง” อย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะจะกลายเป็นว่า ถูกจัดในกลุ่มที่ “ทหาร -ฝ่ายความมั่นคง” ต้องจับตาแบบเกาะติด และ มีคนในเครื่องแบบเข้าประกบทุกพื้นที่ที่คาดว่า เป็นจุดเสี่ยง

ซึ่งนักการเมืองที่รู้ทันต่างส่งเสียง ให้ “คสช.” วางมือ และหากจะจัดการความขัดแย้งจริง ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ หรือ ใช้กลไกของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ออกระเบียบชี้แบบเจาะจงไปว่า พฤติกรรมไหน คือ “การขัดขวาง - กีดกันการเลือกตั้ง “และเป็นข้อเสี่ยงที่จะทำผิดกติกา จนถึงขั้นต้องโทษได้ใบเตือนจาก “กกต.”

แต่เรื่องการเมือง ต้องรออีกอึดใจ แต่กับความเคลื่อนไหวของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” สัปดาห์นี้ มีวาระประชุมที่ชวนให้ติดตาม
จากที่ “สนช.” เคยเสนอร่างกฎหมายที่ทำให้สังคมและวงการมวยวิจารณ์ คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กีฬามวย พ.ศ.2542 ที่เสนอโดย “พล.อ.อดุลยเดช อินทะพงษ์” พร้อมคณะ ซึ่งมีเนื้อหาเพิ่มใหม่หลายอย่าง ทั้ง การห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก หรือ เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี ที่จะแข่งขันชกมวยต้องได้รับอนุญาต

ล่าสุดหลังจากที่ “คณะรัฐมนตรี” รับเนื้อหาไปพิจารณาและขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานกฤษฎีกา, กรมพลศึกษา, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานเหล่านี้มีความเห็นตอบกลับ และที่ประชุม สนช. เตรียมพิจารณา

โดยสาระสำคัญที่ถูกทักท้วงและขอให้ยกเลิก คือ การขึ้นทะเบียนนักกีฬา, ผู้ตัดสิน และหัวหน้าค่าย, การขออนุญาตจัดกีฬามวย รวมถึงจัดการแข่งขันและกำหนดโทษทางอาญา เพราะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่มีเนื้อหาว่ากฎหมายที่ออกใหม่ต้องไม่สร้างภาระเกินจำเป็น

ขณะที่ข้อกำหนดที่ห้าม เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแข่งขันชกมวยมีข้อเสนอให้ทบทวน เพราะตามกติกาที่มีอยู่เดิมได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และโดยปกติเด็กรุ่นดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนที่ชอบธรรม ขณะที่เด็กอายุระหว่าง 12 - 15 ปีที่ต้องใส่เครื่องป้องกัน และได้รับการดูแลตามมาตรฐานนั้น เป็นบทกำหนดไว้อยู่เดิม แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือ “บทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน”

อย่างไรก็ดี “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ได้ทำความเห็นในเชิงลึกด้วยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กีฬามวย ไม่ควรทำเฉพาะการปรับปรุงบางส่วน แต่ควร “ทบทวน” ทั้งฉบับ เนื่องจากพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 บังคับใช้มานานและไม่ทันกับยุคสมัย

แต่ในชั้น “สนช.” ที่จะรับความเห็นนั้น ยังไม่ใช่การรับมาบรรจุในวาระประชุมเพื่อรับหลักการ เพราะต้องรอความเห็นและสาระที่สำคัญ หลังจากที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำความเห็นทั้งร่างกฎหมายที่เสนอแก้ไข และ กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย คงไม่จบแค่การปะผุ บางมาตราเท่านั้นเสียแล้ว