อ.นิเทศฯ ชี้ชัด โลโก้น้ำดื่มเหมือนเบียร์ จงใจโฆษณาน้ำเมา

อ.นิเทศฯ ชี้ชัด โลโก้น้ำดื่มเหมือนเบียร์ จงใจโฆษณาน้ำเมา

อาจารย์นิเทศฯ ชี้ชัด โลโก้น้ำดื่มเหมือนเบียร์ จงใจโฆษณาน้ำเมา เหตุแบรนด์ดีเอ็นเอเดียวกัน ทำนึกถึงโลโก้ต้นฉบับ เผยสำนักคุมเหล้าอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลยื่นฟ้องศาลผิดกม.โฆษณา ระบุศาลเคยตัดสินใช้โลโก้อย่างเดียวผิดกฎหมาย

จากกรณีการจัดงานหมอชวนวิ่งนัดสุดท้ายที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยแพทยสภา แต่ปรากฏว่า มีการจัดบูธน้ำดื่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่งที่ผลิตน้ำดื่มด้วย โดยมีการใช้สัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเข้าข่ายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงการใช้โลโก้ที้มีความคล้ายคลึงกับโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันมีความพยายามตีความที่เลี่ยงกฎหมาย และมีการใช้ตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ที่มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วมาอ้างว่าเป็นการโฆษณาน้ำหรือโซดา แต่จริงๆ แล้วในหลักการโฆษณาหรือนิเทศศาสตร์ คือ การใช้แบรนด์ดีเอ็นเอเดียวกันกับสุรา แล้วมาใช้โฆษณา โดยมุ่งหวังให้เกิดการรับรู้จดจำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

"ปัจจุบันพบการกระทำเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนที่รับรู้ก็ยังจำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เท่ากับเขาก็ได้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปในตัวด้วย ผมยืนยันว่าในทางนิเทศศาสตร์แล้วการใช้โลโก้เหมือนกันหรือคล้ายกัน เป็นการสื่อสารที่จงใจโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แน่นอน เพราะอยู่ภายใต้ร่มแบรนด์เดียวกัน คนก็จะนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว เพราะถูกใช้มาก่อน ถูกโฆษณาในสังคมให้เกิดการรับรู้มาก่อน พอมีอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันคนก็จะนึกถึงต้นฉบับที่เป็นที่มา ผมคิดว่าคนทำก็คงจะรู้อยู่แล้ว คนก็คงเรียนศาสตร์ทางการสื่อสาร ทางการตลาดมาพอๆ กัน ต้องรู้อยู่แล้วว่ามันสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ อีกอย่างผลิตภัณฑ์น้ำ โซดาในตลาดประเมินว่าหมื่นล้านบาท แต่เหล้าเบียร์ปีหนึ่งเป็นแสนล้านบาท ฉะนั้น เจตนาเห็นชัดเจนว่าต้องการมุ่งไปที่ตัวแบรนด์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก” รศ.ดร.บุญอยู่ กล่าว

รศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า ในแง่ของตัวโลโก้ตราสัญลักษณ์ มีการตัดสินของศาลอยู่ในบางพื้นที่ ตีความว่า ตัวสัญลักษณ์ใช้ในโฆษณาและจูงใจในทางการตลาดได้ ซึ่งส่วนที่ฟ้องจะเป็นป้ายสัญลักษณ์ การจัดบูธ หรือป้ายบิลบอร์ดต่างๆ ที่มีแค่ตราแต่ไม่ได้ใส่ชื่อแบรนด์ ซึ่งศาลบางท่านมองว่าโฆษณาจูงใจการรับรู้ได้ แต่ศาลบางท่านก็ไม่เห็นด้วย คิดว่าต้องชัดเจนมีคำเชิญชวนกว่านี้ แต่ส่วนตัวน้ำ โซดา น้ำแร่ยังไม่มีคดีไปถึงศาล ว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะว่าจะฟ้องได้แต่ละครั้งต้องรวบรวมข้อเท็จจริง มีเอกสารวิชาการต่างๆ ซึ่งตอนนี้ยังมีไม่มากพอ แต่อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังรวบรวมข้อมูล

“ปัญหาการโฆษณานั้น จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แน่นอน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เพียงแต่ว่าจะต้องรอจังหวะที่เหมาะสม กฎหมายที่แก้ในมาตรา 32 มองว่าจะต้องแก้เป็นลักษณะของโทเทิลแบน คือ ห้ามโฆษณาทุกประเภททุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางตรง ทางอ้อม ทางแฝง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งจะตัดปัญหาทั้งการใช้โลโก้เหมือนกัน การทำซีเอสอาร์ หรือการโฆษณาองค์กรต่างๆ หรือการโฆษณาผ่านทางออนไลน์ แต่ขึ้นกับการแก้ไขกฎหมายจะเขียนออกมาอย่างไร เขียนครบครอบคลุมไปถึงพวกนี้หรือไม่ ถ้าเขียนไม่ครบก็จะถูกเล่นแง่ใช้ตัวภาษามาเป็นตัวตีความ ไม่ได้มองเจตนาของกฎหมายที่แท้จริง” รศ.ดร.บุญอยู่ กล่าว