'ดีฟเทค-ศก.ชีวภาพ’ เรือธงไซน์พาร์คเหนือ

'ดีฟเทค-ศก.ชีวภาพ’ เรือธงไซน์พาร์คเหนือ

“มดแดงบูทแคมป์” โครงการปั้นและเฟ้นหาสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลระดับนิสิตนักศึกษา ความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ “ฟีดแบค180”หวังสร้างแพลตฟอร์มรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

“มดแดงบูทแคมป์” โครงการปั้นและเฟ้นหาสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลระดับนิสิตนักศึกษา ความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ “ฟีดแบค180” (Feedback 180) สตาร์ทอัพสายดีฟเทคที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเอไอ หวังสร้างแพลตฟอร์มรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พร้อมหนุนธุรกิจท้องถิ่นสู่ระดับโลก

หนึ่งกิจกรรมส่งเสริมการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งเป้าปีหน้าไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท สนับสนุนอาจารย์รุ่นใหม่ทำงานกับสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 100 คน และเกิดการจ้างงานให้กับนักศึกษาใหม่กว่า 1,000 คน โดยใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

บูทแคมป์ปั้นนักวิทย์ข้อมูล

โครงการมดแดง บูท แคมป์ เป็นตัวอย่างของแนวทางการพัฒนากำลังคนสายงานดีฟเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอที่จะพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้ออกมาเป็นแรงงานในสายเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนรวดเร็ว

“ฟีดแบค180” จึงนำเสนอโครงการมดแดง บูท แคมป์ 2018 เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ เข้าร่วมเรียนรู้และแสดงศักยภาพงานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, แมทชีนเลิร์นนิ่ง เข้ามาอบรมและพัฒนาโครงการออกมานำเสนอ เพื่อชิงรางวัลไปเยี่ยมชมไมโครซอฟท์ เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ ประเทศสิงคโปร์

ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีหน้าจะจัดให้ยิ่งใหญ่ในประดับประเทศ และอาเซียนในอนาคต เพื่อกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทรานส์ฟอร์มประเทศไทย

ทั้งนี้ เพราะ เอไอ เป็นผลผลิตสุดท้ายแต่ต้นทางที่สำคัญคือ บุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นตัวตั้งต้นในการทำอนาไลติกส์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีการสอนในลักษณะเป็นเรื่องแต่ไม่ได้สอนแบบองค์รวม เพื่อนำไปต่อยอดเป็นแอพพลิเคชั่น หรือนำไปสู่การใช้งานที่เป็นเป้าประสงค์

ขณะที่ “ฟีดแบค180” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งแมทชีนเลิร์นนิ่งและเอไอ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยังเป็นรูปแบบธุรกิจที่ประเทศมีความต้องการ เพราะการที่สตาร์ทอัพ จะแข่งขันกับบริษัทใหญ่ หรือตลาดที่แข่งขันรุนแรงได้ หนทางเดียวคือต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างความแตกต่าง ในรูปแบบโอเพ่น อินโนเวชั่น หรือ นวัตกรรมแบบเปิด

“วิธีคิดคือ ไม่จำเป็นที่บริษัทต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองตั้งแต่วันแรก สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าใครเก่งเรื่องอะไร ใครเชี่ยวชาญเรื่องอะไรและใครที่สามารถมาเติมเต็มกับบริษัทได้ แหล่งของคนเก่งจะอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นทิศทางที่บริษัทเล็กและขนาดใหญ่อย่าง เอสซีจี ปตท.เบทาโกร ซีพี ให้ความสำคัญและเข้ามาทำงานกับมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยที่เป็นแหล่งความรู้มากขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้จากนักวิจัยมาปลั๊กอินกับโจทย์ของตนเองเพื่อต่อยอดสูงเชิงพาณิชย์ และเกิดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา”

อุทยานวิทย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ

6 ปีที่ผ่านมาอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เป็นแหล่งรวมงานวิจัย นักวิจัย ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือต่างๆ โดยเป็นตัวกลางเชื่อมประสานองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยผลักดันสู่การพัฒนาในภาคเอกชน ภายใต้แนวคิด Total Innovation Solutions เป็นการดำเนินงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 7 แห่ง ซึ่งมีอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เป็นแม่ข่าย และบริหารจัดการดำเนินงานโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในเขตภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

“ขณะนี้มีสตาร์ทอัพในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ประมาณ 140 บริษัท โดยกว่า 45 บริษัทเป็นผลผลิตจากโครงการบ่มเพาะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราตั้งเป้าหมายที่จะให้อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเสมือนแพลตฟอร์มของรีจินอลสู่โกลบอล”

ทั้งนี้ เป้าหมายการทำงานปี 2562 ของ ผศ.ธัญญานุภาพ นอกจากส่งเสริมการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท ยังมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีระดับสูงอย่างบิ๊กดาต้า เอไอ ถัดมาคือ ไบโออีโคโนมี ฟังก์ชั่นฟู้ดสำหรับผู้สูงวัยและเมดิคัลฟู้ดอีกด้วย