เมียนมาเรียกร้อง"ไทย-อาเซียน"ร่วมแก้ปัญหาโรฮิงญา

เมียนมาเรียกร้อง"ไทย-อาเซียน"ร่วมแก้ปัญหาโรฮิงญา

การอพยพหนีตายจากภัยสงครามของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในเมียนมา กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค อีกทั้งเรื่องนี้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐบาลเมียนมา ที่ถูกมองว่า ล้มเหลวในการบริหารจัดการชนกลุ่มน้อยนี้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเมียนมา 3 คนคือ นายพลเหล่า เทย์ วิน อดีตประธานเสนาธิการทหารกองทัพเรือเมียนมาพลโทไว ลวิน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและพันเอกหม่อง หม่อง ยิน สมาชิกในคณะกรรมการร่วมสังเกตุการณ์หยุดยิง ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาโรฮิงญา พร้อมชี้แจงความเป็นจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โรฮิงญาในปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการต่างประเทศถนัดคอมันตร์ (ทิฟาร์) ไว้อย่างน่าสนใจ

นายพลเหล่า เทย์ วิน อดีตประธานเสนาธิการทหารกองทัพเรือเมียนมา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกเมียนมา กล่าวว่า ทุกวันนี้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรฮิงญาจากโลกตะวันตกและสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยในเชิงลบว่ากองทัพเมียนมาทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งยังมีหน่วยงานหนึ่งในสหประชาชาติ(ยูเอ็น)กล่าวหารัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่การรายงานของสื่อทั่วโลกเกี่ยวกับโรฮิงญา ทำให้รัฐบาลเมียนมากลายเป็นจำเลยในสายตาประชาคมโลก ทั้งๆที่ผู้อยู่เบื้องหลังสถานการณ์วุ่นวายทั้งหมดคือ กลุ่มก่อการร้ายอาร์ซา จะอยู่แถวชายแดนระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ พยายามรวบรวมชาวเบงกาลี เป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบเรียบร้อย พร้อมทั้งโยนความผิดว่าเป็นฝีมือของทหารกองทัพเมียนมา

"กองกำลังติดอาวุธอาร์ซา ได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มก่อการร้ายไอเอส และชาวเมียนมาทั้งประเทศไม่ยอมรับว่ากลุ่มนี้เป็นชาวโรฮิงญา แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มเบงกาลีก่อการร้าย กลุ่มนี้เมื่อฝึกทหารจะใช้พื้นที่ชายแดนเมียนมาติดกับบังกลาเทศ และผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้นำทางศาสนา มีการฝึกหัดให้ทำระเบิด วางกับดักระเบิดด้วยการฝังไว้ใต้ดิน และกลุ่มนี้จะใช้เด็ก ผู้หญิงมาเป็นเกราะมนุษย์ โดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะทำสงครามศาสนา หรือ จิฮัด"อดีตประธานเสนาธิการทหารกองทัพเรือเมียนมา กล่าว

นายพลเหล่า เทย์ วิน กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ฝึกสอนด้านการทหารแก่ชาวเบงกาลี หรือชาวบ้านในโรฮิงญา ให้ก่อความไม่สงบและโบ้ยความผิดว่าเป็นฝีมือทหารเมียนมา เป็นอดีตทหารจากอิรักและอัฟกานิสถาน โดยใช้เด็กและผู้หญิงเป็นเกราะมนุษย์ ซึ่งกลยุทธนี้เป็นที่นิยมของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เพื่อให้เกิดความกลัวจะได้ไม่กล้าต่อต้าน

“ขณะนี้เมียนมาถูกกล่าวหาจากทั่วโลกว่า เป็นประเทศที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีมนุษยธรรม ผมจึงหวังว่าการมาชี้แจงความจริงในเรื่องนี้ จะช่วยให้ประเทศต่างๆเกิดความเข้าใจเมียนมาว่า เป็นประเทศที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และต้องการทำให้ประเทศเกิดความสงบสุข ไม่ได้ต้องการทำการสู้รบกับกลุ่มใดๆ และขอให้สื่อทั่วโลกรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติ”นายพลเหล่า เทย์ วิน กล่าว

ด้านพันเอกหม่อง หม่อง ยิน สมาชิกในคณะกรรมการร่วมสังเกตุการณ์หยุดยิง ตอบข้อซักถามในประเด็นที่ว่ารัฐบาลเมียนมายกเลิกการคุ้มครองชาวโรฮิงญาในทุกด้าน ทำให้ชาวโรฮิงญามีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และถูกละเมิดสิทธิจนต้องหนีเข้าไปในประเทศอื่นๆว่าไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งขยายความว่าชาวโรฮิงญา แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่มานาน และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ จะได้การรับรองสถานะความเป็นพลเมือง และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่รอการพิสูจน์ระยะเวลาการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งกลุ่มนี้ มีอยู่จำนวนมากและไม่ได้สัญชาติเมียนมา แต่ได้บัตรรับรองการมีตัวตนในทะเบียนราษฎร์ของเมียนมา ทำให้มีสิทธิ์ทำงาน ถือครองทรัพย์สิน ส่วนเด็กๆ ก็สามารถเข้าเรียนหนังสือได้เหมือนชาวเมียนมาทั่วไป

ขณะที่พลโทไว ลวิน อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารส่วนกลางพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(ยูเอสดีพี ) กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาจากความพยายามสร้างสถานการณ์ของชาวเบงกาลีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มกองกำลังอาร์ซา เพื่อหวังแบ่งแยกดินแดนแคว้นยะไข่ออกจากเมียนมา

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้ง3คนจากรัฐบาลเมียนมา ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)ในปี 2562 รวมทั้งชาติสมาชิกอาเซียน ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ในฐานะที่ปัญหานี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเมียนมาประเทศเดียว แต่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ จึงสมควรให้ทุกประเทศร่วมกันแก้ไข

ถือเป็นโอกาสดีที่ไทย ในฐานะเจ้าภาพจะใช้เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปีหน้า ผลักดันวาระวิกฤตโรฮิงญา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน เพราะหากไม่มีปัญหาผู้อพยพ ภูมิภาคนี้ก็สงบสุข ไร้ปัญหาความรุนแรง ทำให้ภาครัฐเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่