คูปองนวัตกรรม ยกระดับโอท็อปปัตตานี

คูปองนวัตกรรม ยกระดับโอท็อปปัตตานี

ข้าวเกรียบปลาจากปัตตานีดึงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาช่วยพัฒนาเครื่องจักรการผลิต ลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตแถมยังเพิ่มกำลังการผลิต 2 เท่า

ข้าวเกรียบปลาจากปัตตานีดึงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาช่วยพัฒนาเครื่องจักรการผลิต ลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตแถมยังเพิ่มกำลังการผลิต 2 เท่า คุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานรองรับออเดอร์จากจีนปีหน้า ตั้งเป้าอีก 2 ปียอดขายทะลุ 100 ล้านบาท

เริ่มจากแนวคิดการผลิตข้าวเกรียบปลาพื้นบ้านในภาคใต้ ให้สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ “อารียา หะยีมะเด็ง” ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลียาฮาลาลฟู้ดส์ ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพได้ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งให้ชื่อแบรนด์ว่า “นัสรีน”

สินค้าโอท็อปขึ้นห้าง

“นัสรีน” มีจุดเด่นที่เป็นจุดขายสำคัญหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การผลิตใช้สูตรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่ถ่ายทอดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ เมื่อ 1,000 กว่าปีมาแล้ว โดยนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพคือ ปลาทูจากโรงงานที่มีมาตรฐานและส่วนผสมแป้งสาคูที่มีคุณสมบัติย่อยง่าย ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานและรักษาสิ่งแวดล้อม

ข้าวเกรียบปลาตรานัสรีน มีลักษณะแผ่นบาง กรอบ มีความเข้มข้นของเนื้อปลาทู ปราศจากสิ่งเจือปนและวัตถุกันเสีย สามารถใช้เป็นขนมขบเคี้ยว หรือเป็นเครื่องเคียงกับอาหารได้หลายประเภท อาทิ โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว สลัด ส้มตำ ข้าวยำ เป็นต้น รสชาติทั้งสิ้น 4 รส คือ รสชาติดั้งเดิม สไปซี่ สาหร่าย และรสสมุนไพร แต่จะขยายเพิ่มไปเรื่อยๆ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย

ปัจจุบันวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดและร้านขายของฝาก ส่งผลให้ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิม 2 เท่า เนื่องจากกระบวนการผลิตในขณะนี้ยังเน้นการใช้แรงงานคนในขั้นตอนการนวดผสม การปั้นขึ้นรูป การต้มสุก การหั่นเพื่อเตรียมทอดและยังมีบางขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานาน เช่น การลดอุณหภูมิหลังต้ม การแช่แข็งให้ข้าวเกรียบเซตตัวและการลดอุณหภูมิก่อนนำไปทอด

จากข้อจำกัดดังกล่าวจึงมีแนวคิดพัฒนาโครงการ “ระบบการผลิตกือโป๊ะแบบกึ่งอัตโนมัติ” อาศัยรศ.ราม แย้มแสงสังข์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มาช่วยพัฒนาและขอรับทุนจากโครงการคูปองนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ในการสร้างเครื่องจักรโดยการออกแบบกระบวนการผลิต 2 ขั้นตอน

คือ 1.กระบวนการนวดผสมและขึ้นรูปกือโป๊ะแบบแท่ง ด้วยการพัฒนา เครื่องอัดรีดแบบสกรูเดียว อาศัยเทคโนโลยีการออกแบบทางวิศวกรรมของเครื่องจักรให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการใช้ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ แรงเฉือนและความสามารถในการต้านแรงกด ซึ่งจะถูกนำไปออกแบบขนาดของมอเตอร์ และคุณลักษณะของเกลียว

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบของแรงเฉือนจากเกลียวของสกรูต่อคุณสมบัติของข้าวเกรียบ เพื่อให้ได้ความเหนียวที่เหมาะสมผลกระทบของเวลาและแรงเฉือนในการเกิดความร้อนใน Barrel ของสกรู ซึ่งถ้ามีความร้อนเกิดขึ้นมากเกินไป อาจส่งผลให้ตัวกือโป๊ะมีความหนืดน้อยเกินไป หรือทำให้เละเกินไป โดยการใช้โปรแกรมเสมือนจริงในการควบคุม

2. กระบวนการลดอุณหภูมิก่อนนำไปทอด ด้วยการพัฒนาเครื่องเป่าลมร้อนแบบพุ่งชนเหมาะสมกับการใช้เวลาและพื้นที่ที่จำกัด โดยใช้หลักการแพร่ความร้อนไปสู่ตัวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งระยะเวลาและความร้อนที่ต้องใช้ในการละลายเกล็ดน้ำแข็งบนผิวของข้าวเกรียบแผ่น ร่วมกับการออกแบบจำนวนของหัวเป่าลม ความยาวสายพานและขนาดของพัดลมที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิต

วิจัยช่วยเพิ่มกำลังผลิต

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาไปได้ 80% คาดว่าจะเสร็จในเดือน เม.ย. 2562 จะทำให้รับออเดอร์จากผู้ประกอบการจีนได้ เพราะสามารถผลิตได้ 30 แท่งต่อนาทีหรือ 200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือเพิ่มกำลังผลิตได้มากขึ้น 2 เท่าตัว คาดว่าในปี 2563 จะทำยอดขายถึง 100 ล้านบาทจากปัจจุบันมีรายได้ 1.2 ล้านบาทต่อเดือน”

อารียา กล่าวว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือของโครงการคูปองนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามที่ต้องการ จากเดิมที่ไม่สามารถหาเครื่องจักรเข้ามาในพื้นที่ได้ เนื่องจากไม่มีผู้ผลิตรายไหนกล้าที่เข้ามาให้บริการ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขอทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้ดีขึ้นอีก พร้อมทั้งแตกไลน์ไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถใช้กระบวนการผลิตเดียวกันได้ เพียงแค่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็น กุ้ง หอย ปลาหมึก นำมาแปรรูป