ฮาลาล-ดีเฟนส์เทค ดันสตาร์ทอัพชายแดนใต้

ฮาลาล-ดีเฟนส์เทค  ดันสตาร์ทอัพชายแดนใต้

ฟินเดลิเวอรี่ บริการรับ-ส่งอาหารและวัตถุดิบจากตลาดส่งตรงถึงหน้าบ้าน, พินซูก ตลาดสินค้าฮาลาลออนไลน์, นัสรีนข้าวเกรียบปลา(กรือโป๊ะ) ตัวอย่างสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในโครงการนวัตกรรมสำหรับสมาร์ทเอสเอ็มอี/สตาร์ทอัพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเอ็นไอเอ

ฟินเดลิเวอรี่ บริการรับ-ส่งอาหารและวัตถุดิบจากตลาดส่งตรงถึงหน้าบ้าน, พินซูก ตลาดสินค้าฮาลาลออนไลน์, นัสรีนข้าวเกรียบปลา(กรือโป๊ะ) ตัวอย่างสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในโครงการนวัตกรรมสำหรับสมาร์ทเอสเอ็มอี/สตาร์ทอัพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)

ทั้งสองหน่วยงานได้กำหนด 2 แนวทางหลักในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การพัฒนาต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ให้สามารถขยายผลทางด้านเศรษฐกิจได้จริง 2. การพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมในลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น

นวัตกรรมชายแดนใต้

ฟินเดลิเวอรี่ (FiinDelivery) แพลตฟอร์มซื้อขายและจัดส่งอาหาร วัตถุดิบปรุงอาหารในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เพื่อลดเวลาการเดินตลาดสด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับรูปแบบการค้าขาย จากการซื้อขายต่อหน้าซึ่งผูกติดกับร้านใดร้านหนึ่ง มาเป็นการสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าและวัตถุดิบจากร้านค้าในตลาดสดที่มีข้อมูลร้านค้าปลีก สินค้าและวัตถุดิบที่จัดแสดงอยู่ในระบบ หลังจากเปิดตัวได้ประมาณ 2 เดือนมีผู้ใช้บริการ 6,000 คนและมูลค่าการซื้อขาย 3 แสนบาท

“พินซูก” (Pinsouq) ตลาดซื้อขายสินค้าฮาลาลออนไลน์ให้บริการทั้งบีทูบี และบีทูซีมา 2 ปีกว่า มีรายได้ 4 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ “นัสรีน” ข้าวเกรียบปลา เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต และสนับสนุนแนวทางขยายสู่ตลาดส่งออกในอนาคต

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม เอ็นไอเอ กล่าวว่า ในปี 2562 ได้รับจัดสรรงบ 22.4 ล้านบาท มุ่งเน้นการขยายผลนวัตกรรมเดิม รวมทั้งบูรณาการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสล.) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YES) โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมจะโฟกัสด้านการเกษตร

“ศอ.บต. มีเป้าหมายอยู่แล้วที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาการเกษตร การศึกษา และการท่องเที่ยว แต่หลังจากเอ็นไอเอลงพื้นที่พบว่า ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อาจจะสอดคล้องกับนโยบาย เช่น ความต้องการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมาช่วยในการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มกำลังผลิตและลดต้นทุน

เช่น เอสเอ็มอีอย่างข้าวเกรียบปลานัสรีนต้องการเครื่องจักรในการผลิต ส่วนกลุ่มสตาร์ทอัพจะต้องการบริการที่ช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนภายใน ด้านการจัดส่งสินค้า ส่งผลให้ในปี 2562 เอ็นไอเอต้องปรับแนวทางการจัดสรรทุนใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

นอกจากนี้แผนในปีหน้ายังโฟกัสกลุ่มเอสเอ็มอีในการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะทางด้านเกษตร อาหาร ในกลุ่มสตาร์ทอัพจะโฟกัสเรื่องการท่องเที่ยว ฮาลาลเกี่ยวกับสปา โดยจะทำโฟกัสกรุ๊ปผู้ประกอบการภาคใต้อีกครั้งเพื่อลงลึกในรายละเอียด

“จากงบที่ได้รับจัดสรรมานั้นจะพยายามบาลานซ์ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจใหม่และกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมของตนเอง”

ปี 2562 จะจัดคอร์สพัฒนาคนรุ่นใหม่ร่วมกับ ศอ.บต.โดยตั้งเป้าให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ 10 ราย เพื่อเป็นทรายเม็ดใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นแรก 3 ราย รวมทั้งเอสเอ็มอี 5 รายที่ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคใต้ และที่สำคัญ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในและนอกพื้นที่"

ต่อยอด‘ฮาลาล’สู่ท่องเที่ยว

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า จุดเด่นสำคัญของภาคใต้คือ ฮาลาล ซึ่งเป็นการผลิต การให้บริการหรือการจำหน่ายที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม สามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจได้ เพราะเป็นการทำให้ถูกสุขลักษณะ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ “ฮาลาลทัวริซึ่ม” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก

กลุ่มเป้าหมายคือ นักท่องเที่ยวอาหรับที่มีกำลังซื้อ จากเดิมที่นิยมเข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์เป็นหลัก โดยเฉพาะฮาลาลสปาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ ศอ.บต. พยายามผลักดันสตาร์ทอัพให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สตาร์ทอัพทัวริซึ่มในภาคใต้ สามารถแจ้งเกิดได้ เพราะสามารถทำได้หลายมิติ ทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพ สปา การท่องเที่ยว ฯลฯ

ยกตัวอย่าง ฮาลาลสปามีการแยกหญิงชาย หรือการนวดลังกาสุกะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการประยุกต์นำน้ำมันยี่หร่าดำ ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนามาผสมผสานกับการแพทย์สมัยใหม่ หรือแทนที่อุปกรณ์จะเป็นลูกประคบสมุนไพรก็นำมากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สะดวกใช้งาน

"ไอเดียเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งอาหารและของใช้ที่ต้องขึ้นทะเบียนฮาลาล เช่น ครีมทาผิว น้ำหอม กระบวนการผลิตเหล่านี้เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนและทำให้สามารถขยายตลาดไปในต่างประเทศได้ ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มมุสลิมเท่านั้น”

ทุกคนสามารถใช้สินค้าฮาลาลได้ เพราะเป็นมาตรฐานที่การันตีถึงสินค้าและบริการที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดีเฟนส์เทคในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันและความมั่นคง มาใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย อาทิ เซนเซอร์ตรวจวิเคราะห์ภัยคุกคาม เทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตี้ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น