หุ้นแอ๊ปเปิ้ลร่วงฉุดดาวโจนส์ดิ่งกว่า600จุด

หุ้นแอ๊ปเปิ้ลร่วงฉุดดาวโจนส์ดิ่งกว่า600จุด

รายงานดังกล่าว สร้างความกังวลเกี่ยวกับยอดขายของไอโฟนรุ่นล่าสุดของแอ๊ปเปิ้ลในช่วงที่ช่วงเทศกาลวันหยุดใกล้มาถึง ขณะที่สำนักข่าวนิกเกอิ รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การผลิต ไอโฟนชะลอตัวลง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันจันทร์ (12พ.ย.)ปรับตัวร่วงลงอย่างต่อเนื่องและหนักกว่าทุกวันโดยทรุดลงไปกว่า 600 จุด เพราะถูกกดดันจากหุ้นแอ๊ปเปิ้ล เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับยอดขาย ไอโฟนว่าจะไม่เป็นไปตามเป้า  และตลาดยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ บวกกับความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

      ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง  602.12 จุดหรือ 2.32 % ปิดที่ 25,387.18 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วง 54.79 จุดหรือ 1.97% ปิดที่ 2,726.22 จุดและดัชนีแนสแด็ก ลบ 206.03 จุดหรือ 2.78% ปิดที่ 7,200.87 จุด

ทั้งนี้ ราคาหุ้นแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์จำนวน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลงมากกว่า 4.5% ในการซื้อขายวันนี้ และฉุดให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลง หลังจากที่ซัพพลายเออร์ที่ผลิตอุปกรณ์จับภาพบนใบหน้าของไอโฟนปรับลดแนวโน้มผลประกอบการ โดยระบุถึงการที่ลูกค้ารายหนึ่งได้ปรับลดคำสั่งซื้อ

บริษัทลูเมนตัม โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเลเซอร์ที่สามารถจับภาพ 3 มิติในฟีเจอร์เฟซไอดี ที่ใช้ในการผลิตไอโฟน ประกาศปรับลดแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปีหน้า โดยระบุว่า หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทได้ประกาศลดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว แต่ลูเมนตัมไม่ได้ระบุชื่อแอ๊ปเปิ้ลในแถลงการณ์วันนี้ ส่วนราคาหุ้นของลูเมนตันทรุดตัวลงมากกว่า 30% ในวันนี้

ขณะที่นายจู ไห่ปิน นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ระบุว่า มีแนวโน้ม 55% ที่การเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมจี20 ที่กรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้ จะล้มเหลว

“เรายังคงมีความระมัดระวัง เนื่องจากความท้าทายในการแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงอยู่ในระดับสูง สหรัฐและจีน มีความขัดแย้งกันมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าถึงตลาด นโยบายอุตสาหกรรม และมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การแข่งขันกันระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ” นายจู กล่าว

นายจู กล่าวเสริมว่า ยังไม่ปรากฎชัดว่า จีนยินยอมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงมากกว่าในเรื่องการค้าหรือไม่