สนช. ประทับตราเอกฉันท์ ตั้ง 'กก.-กองทุน ประชารัฐ'

สนช. ประทับตราเอกฉันท์ ตั้ง 'กก.-กองทุน ประชารัฐ'

สนช. ประทับตราเอกฉันท์ ตั้ง "กก.-กองทุน ประชารัฐ" สร้างหลักทำนโยบาย ประยุทธ์อยู่ถาวร หลังพิจารณา 2 ชม. ด้านสาระของร่างกม. กำหนดอำนาจ กก.กองทุน ต่อยอดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้สิทธิ์เอกชน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.61 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ... เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ต่อยอดนโยบาย และโครงการประชารัฐ ที่เกิดในสมัยรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ให้เป็นนโยบายและโครงการที่กฎหมายรองรับ และจัดตั้งกองทุนประชารัฐ เพื่อนำไปใช้ในโครงการหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ด้วยเสียงเอกฉันท์ 164 เสียง โดยใช้เวลาพิจารณา รวม 2 ชั่วโมง

ขณะที่การพิจารณาในชั้น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณา ร่างพ.รบ.ประชารัฐฯ รวม 58 วัน โดยผลการพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้ง 28 มาตรา นั้นพบการแก้ไข 9 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่ 1 มาตรา โดยนอกจากสาระสำคัญ ที่ให้ตั้งคณะกรรมการประชารัฐฯ แล้วยังมีเนื้อหาที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ดำเนินงานต่อยอดโครงการหรือมาตรการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือและการเดินทาง พร้อมทั้งยังมีหน้าที่เสนอโครงการใหม่ ประเมินผล กำกับดูแลและบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กมธ.ฯ ได้เพิ่มความในมาตรต่างๆ ที่น่าสนใจด้วย คือ มาตรา 13 ให้อำนาจสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการประชารัฐ มีหน้าที่จัดการฐานข้อมูล ของประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยมีเหตุผลสำคัญ เพื่อให้เป็นหน่วยงานเดียวที่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ เช่น ด้านทะเบียนราษฎร์, ด้านการเงิน, การรักษาพยายาบาล, ด้านการศึกษาไว้ เป็นระบบ เพื่อประหยัดงบประมาณ ขณะเดียวกันกมธ.ฯ ได้ทำข้อเสนอแนะให้ระวังเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลไปยังสาธารณะด้วย

นอกจากนั้นยังเพิ่มความมาตราใหม่ ที่ว่าด้วยการตรวจสอบผลการทำงาน โดยในระยะเวลา 180 วันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีของกองทุนประชารัฐฯ เสนอต่อ ครม. , สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา โดยเฉพาะความสำเร็จของงาน ประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินกองทุน พร้อมกับเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยทั่วไปด้วย ทั้งนี้ขอบเขตของการใช้เงินในกองทนฯ ตามร่างกฎหมายระบุเพียงว่า ให้ความช่วยหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย, สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่ช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภทที่ทำโดยเอกชน มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์

ส่วนผลการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังวัดถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา