'หมอธีระวัฒน์' เตรียมชง 4 ข้อเข้าคกก.ยาเสพติด 9 พ.ย.นี้

'หมอธีระวัฒน์' เตรียมชง 4 ข้อเข้าคกก.ยาเสพติด 9 พ.ย.นี้

"หมอธีระวัฒน์" เตรียมชง 4 ข้อเข้าคกก.ยาเสพติด 9 พ.ย.นี้ หวังยกระดับกัญชาช่วยผู้ป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายประเทศได้อย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ล่าสุดตนได้หารือร่วมกับทางองค์การเภสัชกรรม(อภ.)และกรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีความเห็นร่วมกัน 4 ข้อ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยมีความเห็นตรงกันให้คณะกรรมการที่พิจารณาในวันที่ 9 พฤศจิกายน ตั้งกรอบเพิ่มเติมจากการยกระดับกัญชา ดังนี้ 1.ผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องปลอดภัยที่สุด ต้องระวังเรื่องการปนเปื้อน เนื่องจากปัจจุบันมีประเด็นยาฆ่าหญ้า สารเคมีปนเปื้อนจำนวนมาก 2. ถึงแม้สารสกัดกัญชาจะไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า Approved Products แต่กรณีน้ำมันกัญชาให้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอมรับได้ เฉกเช่นสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA รับรองก็สามารถใช้กับผู้ป่วยได้ แต่กรณีสารสกัดกัญชาที่ไม่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล ในต่างประเทศ ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง ไม่สามารถเปิดประกันได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า 3. ถ้ามีการใช้ ต้องแบ่งผู้ใช้ออกเป็นระดับต่างๆ คือ แพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งอายุรแพทย์ สมอง มะเร็ง ส่วนหมอทั่วไปสามารถใช้ได้ตามข้อบ่งใช้ที่กำหนด และ 4.ข้อบ่งใช้อยากให้เพิ่มว่า ต้องเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและให้เป็นตัวควบรวมกับแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ทางคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีนพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธานก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในแนวเดียวกับตนมากนัก เพราะยังยืนยันว่า ข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์มี 4 ข้อ และมีข้อจำกัดอยู่ คือ 1.ลดอาการเกร็งจากโรคปลอกหุ้มประสาทอักเสบ 2.อาเจียนจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง 3.ลมชักในเด็กที่ใช้ยา 2 ชนิดแล้วไม่ได้ผล และ 4.ปวดทรมาน ซึ่งเมื่อจำกัดแบบนี้ก็จะทำให้ช่วยผู้ป่วยเพียงพันกว่าคนเท่านั้น จากข้อเท็จจริงมีเป็นแสนๆคน แทนที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพกลับไปจำกัดเสียเอง

“ผมมองว่าอย่างข้อ 4 ในการประชุมพรุ่งนี้ต้องไม่จำกัด เพราะด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ผู้ป่วยจะไม่ได้ประโยชน์มาก อย่างข้อบ่งชี้ข้อที่ 1 และ 2 จะมีแค่พันคนเอง เพราะไปจำกัดว่าอาการเกร็งจากโรคปลอดหุ้มประสาทอักเสบ และอาการข้างเคียงจากมะเร็ง ซึ่งไม่ได้มีแค่อาเจียน แต่ยังมีเบื่ออาหารอีก หรือแม้แต่ข้อ 3 จำกัดว่าให้ใช้ลมชักในเด็กได้ก็ต่อเมื่อใช้ยาตัวอื่นไม่ได้ผลมา 2 ชนิด ทำให้ตัดโอกาสในการคุมโรคให้นานออกไปอีก หรือข้อสุดท้ายปวดทรมาน ถามว่าเราต้องรอให้คนไข้ทรมานขนาดไหนถึงมีโอกาสได้ใช้ยาลดความทรมาน แทนที่จะเปิดกว้าง เพราะโรคลมชักรวมผู้ใหญ่ก็เป็นแสนคน ภาวะแข็งเกร็งโดยรวมมีเป็นหมื่นคน และอาการข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ใช่แค่อาเจียนมีอีกเป็นแสนๆ คน เจ็บปวดทรมานอีก นี่คือตัดโอกาสผู้ป่วยรายอื่นไปหมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

อาจารย์จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญยังไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประเทศเลย อย่างกรณียาแก้ปวดนั้น ประเทศไทยนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ 2,088 ล้านบาท หรือยาอื่นๆ อย่างยากลุ่มจิตเวชเฉลี่ยปีละ 1,712 ล้านบาท ยาลดอาการซึมเศร้า 1,609 ล้านบาท ยาพาร์กินสัน 1,230 ล้านบาท ยาโรคสมองเสื่อม 2,490 ล้านบาท เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายจะเพิ่มราคาไปอีก 3- 10 เท่า แบบนี้ไม่ได้ช่วยลดภาระด้านงบประมาณของประเทศเลย จึงต้องฝากคณะกรรมการที่จะพิจารณาในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ด้วย ให้เห็นประโยชน์ภาพรวมทั้งหมด เพราะถ้าสุดท้ายจำกัดสิทธิการใช้เช่นนี้ คงมีการเคลื่อนไหวจากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการพูดคุยกัน ทางเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งอยู่ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร หากจำกัดสิทธิเหมือนเดิม คาดกันว่าจะรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความทุกข์ของผู้ป่วยแน่นอน ดังนั้น ขอย้ำว่า กัญชาที่จะปลดล็อกต้องเป็นผู้ช่วยพระเอกได้จริงๆ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่ได้บอกว่าต้องใช้กัญชาอย่างเดียว เพราะการแพทย์แผนปัจจุบัน ยาก็ยังต้องใช้ เพียงแต่ต้องควบคู่กัน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 9 พฤศจิกายนของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีทุกภาคส่วนเข้ามาหารือ ทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่เรื่องยกระดับสารสกัดจากกัญชาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆอีก อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาเป็นอย่างไรให้รอผลการประชุมก่อน ซึ่งต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษในวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ได้มอบให้นพ. พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดสธ. เป็นประธานแทน