ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด คำตอบ Smart Car for The Future

ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด คำตอบ Smart Car for The Future

"นินนาท" แห่งโตโยต้าส่องภาพอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุยานยนต์พลังงานทางเลือกยังเป็นเทรนด์ติดลมบน โดยเฉพาะ "ไฟฟ้าไฮบริด" จะเป็นแพลตฟอร์มพลังงานพื้นฐานสำหรับยานยนต์อนาคต

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวบรรยายหัวข้อ “Smart Car for The Future” ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2018 ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกนั้น ในปี 2560 มียอดขายกว่า 97 ล้านคันทั่วโลก โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดที่ 2% และมียอดการผลิตยานยนต์ราว 2 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 12 ของโลก และคาดว่า จะเพิ่มการผลิตเป็น 2.3 ล้านคันในปี 2561 โดยความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์มีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคการผลิต และ การผลิตไฟฟ้า นับเป็น 3 อุตสาหกรรมต้นเหตุหลัก ตามมาด้วยการเพิ่มจำนวนประชากรและการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่เมือง ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับอุตฯยานยนต์ทั้งรถติด มลพิษทางอากาศ และอุบัติเหตุ

แต่เมื่อมองภาพอนาคต ยานยนต์อัจฉริยะเป็นหัวข้อที่ทุกคนให้ความสนใจ ยานยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามามีบทบาท โดยภายใน 2-3 ปีข้าวหน้าจะสร้างส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 30% จากการเติบโตของเทคโนโลยี 5จี และการพัฒนาแบตเตอรีที่ตอบโจทย์ทั้งน้ำหนัก ราคา และความหนาแน่นของพลังงาน เทรนด์อนาคตสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บริหารโตโยต้ามองว่า ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดจะเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานสำหรับยานยนต์อนาคต ในขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี (BEV) จะเหมาะกับรถขนาดเล็ก วิ่งระยะใกล้ ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากต้องมีสถานีชาร์จรองรับ หากเป็นการวิ่งในระยะกลาง ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด แบบใช้เซลล์พลังงานหรือแบบปลั๊กอิน ที่มีแหล่งพลังงานที่หลากหลายจะเหมาะกว่า แต่หากต้องใช้วิ่งระยะไกล ไฮโดรเจนยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่ตอบโจทย์


ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรียังคงมีปัญหาหลายอย่าง เช่น กระแสไฟฟ้าที่ต้องเพิ่มความเสถียรในการชาร์จ ต้องการสถานีชาร์จในปริมาณที่จำเป็น รวมถึงเรื่องของภาษีที่ไฟฟ้ายังไม่ต้องเสีย เมื่อเทียบกับน้ำมันที่มีต้นทุนภาษี และราคาของแบตฯ ที่ยังแพงอยู่ในขณะที่ประสิทธิภาพไม่เอื้อต่อการวิ่งตามต้องการ เพราะใช้เวลาชาร์จไม่น้อยกว่า 8 ชม. ต่างจากสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองมาลโม สวีเดน ที่ใช้หลังคาที่มีเซลล์สุริยะทำหน้าที่เก็บกักพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชาร์จให้กับรถที่จอดใต้หลังคานี้


ขณะที่รถมิไรของญี่ปุ่นใช้เซลล์พลังงานในการขับเคลื่อน และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมียอดการผลิต 13 คันต่อวัน มียอดขายตั้งแต่เริ่มขายจริงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน 7.3 พันคัน และในปี 2562 จะเพิ่มการผลิตเป็น 1.3 หมื่นตันต่อปี ในขณะที่โตโยต้าเอง เตรียมรถบัสรุ่น 2 ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน 100 คัน เพื่อใช้วิ่งในช่วงโอลิมปิก2020 ที่ญี่ปุ่น โตโยต้าหวังที่จะยื่นเรื่องให้กับรัฐบาล เพื่อใช้รถบัสขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนนี้ในสนามบินอู่ตะเภา ที่จะตอบโจทย์แนวคิดการเป็นสนามบินรักสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Airport และในส่วนของยานยนต์อนาคตในไทย โตโยต้าเองมีแนวโน้มที่จะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานจนถึงปี 2563 ก่อนที่จะขยายสู่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอินต่อมา