‘เฟซบุ๊ค’ เข้มคุมเนื้อหาโพสต์ แชร์ ไลฟ์ ผ่านแพลตฟอร์ม

‘เฟซบุ๊ค’ เข้มคุมเนื้อหาโพสต์ แชร์ ไลฟ์ ผ่านแพลตฟอร์ม

การเติบโตที่ก้าวกระโดดของ "เฟซบุ๊ค" นอกจากจะส่งผลดีด้านการติดต่อสื่อสาร การตลาด เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าหากันแล้ว อีกทางหนึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากที่เนื้อหาที่โพสต์ แชร์ หรือถ่ายทอดสดออกไปจะสร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความรุนแรง เกลียดชัง...

“เฟซบุ๊ค” เข้มตรวจสอบเนื้อหา โพสต์ แชร์ ไลฟ์สดบนแพลตฟอร์ม ผนึกพันธมิตรระดับท้องถิ่น-ประชาสังคม ร่วมตรวจสอบเนื้อหาเป็นเท็จ-โกงการเลือกตั้ง พยายามยั่วยุให้เกิดสถานการณ์รุนแรง พร้อมใช้เทคโนโลยี “เอไอ” ช่วยสกัดภาพโป๊เปลือย ความรุนแรง โฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย วาจาสร้างความเกลียดชัง บัญชีปลอม สแปม เผยมีบุคลากรร่วมทำงานทั่วโลกกว่า 2 หมื่นคน โชว์สถิติไตรมาสแรกปีนี้ ปิดบัญชีปลอมไปกว่า 583 ล้านบัญชี นำออกสแปม 837 ล้านชิ้น กิจกรรมทางเพศ-โป๊เปลือย 21 ล้านรายการ

แคลร์ เดวี่ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เฟซบุ๊ค กล่าวว่า แนวทางการควบคุมเนื้อหาบนเฟซบุ๊ค ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับท้องถิ่นในทุกประเทศที่ให้บริการ ซึ่งรวมถึงภาครัฐ ประชาสังคม และองค์กรต่างๆ โดยที่ผ่านมายึดตามนโยบายมาตรฐานชุมชน(Facebook's Community Standards) เป็นหลัก และบางกรณีที่มีความละเอียดอ่อนหรือเกี่ยวข้องกับทางกฎหมาย จะมีการทำงานร่วมกับทีมกฎหมายเพื่อช่วยกันตรวจสอบให้การเผยแพร่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบของท้องถิ่นนั้นๆ

เช่นเดียวกัน สำหรับการดูแลเนื้อหาช่วงการเลือกตั้ง โดยปกติการเลือกตั้งทั่วไปมีอยู่ทุกประเทศ เฟซบุ๊คเอง 18 เดือนที่ผ่านมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย เพื่อช่วยกันตรวจสอบเนื้อหา ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือบางกรณีสร้างความเข้าใจผิดที่อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียโอกาส เช่น กรณีหลอกให้ลงคะแนนเสียง แทรกแซงกระบวนการทำให้ไม่ได้ไปเลือกตั้ง หรือยั่วยุให้เกิดสถานการณ์รุนแรงในชีวิตจริง

นอกจากนี้ การป้องกันความปลอดภัยการใช้งานของเฟซบุ๊คไลฟ์ มีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรง และกิจกรรมทางเพศต่างๆ ฯลฯ

มาตรฐานเดียวทั่วโลก

ไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เฟซบุ๊ค เผยตัวเลขที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นบนแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊คระหว่างเดือนม.ค.- มี.ค.2561 ว่า ได้จัดการปิดบัญชีปลอมไปกว่า 583 ล้านบัญชีภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากมีการลงทะเบียน จากจำนวนดังกล่าว 99% ถูกดำเนินการก่อนที่จะถูกรายงานเข้ามา

เฟซบุ๊คระบุว่า มีการนำสแปมจำนวน 837 ล้านชิ้นออกโดยเกือบ 100% ถูกตรวจพบก่อนมีการรายงานเข้ามา, มีการตรวจพบกิจกรรมทางเพศและโป๊เปลือย 21 ล้านรายการ 96% ถูกตรวจพบและจัดการนำออกก่อนถูกรายงานโดยเทคโนโลยีที่เฟซบุ๊คมี

นอกจากนี้ เมื่อไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา จัดทำป้ายเตือนและนำออกคอนเทนท์ที่มีความรุนแรงกว่า 35 ล้านชิ้น 86% ตรวจพบโดยเทคโนโลยี, นำออกโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย 1.9 ล้านชิ้น โดย 99.5% ถูกตรวจพบได้โดยเทคโนโลยีก่อนมีการรายงานรวมไปถึงนำออกข้อมูลที่มีการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง(Hate Speech) 2.5 ล้านชิ้น 38% จัดการโดยเทคโนโลยี

“เนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎนโยบายและถูกลบออกจากแพลตฟอร์มหลักๆ มี 6 ประเภท ได้แก่ ภาพโป๊เปลือย(nudity) ภาพความรุนแรง(graphic violence) โฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย(terrorist propaganda) การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (hate speech) บัญชีผู้ใช้ปลอม(fake accounts) และสแปม(spam)”

เขากล่าวว่า นโยบายมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊คเป็นกฏเกณฑ์ที่กำหนดว่าเนื้อหาใดสามารถและไม่สามารถแบ่งบันบนแพลตฟอร์มได้ โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการประกอบด้วย 1.ความปลอดภัย 2.การแสดงความคิดเห็น โดยต้องเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระที่สุด ให้กับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 3.ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือต้องสามารถใช้นโยบายต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมในทุกชุมชน ทุกประเทศ ทุกวัฒนธรรม

“นโยบายต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นอิสระและปลอดภัยในการแสดงตัวตน ทั้งจะมีการปรับปรับพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความระมัดระวัง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะยึดหลักสำคัญสามข้อข้างต้นเป็นแกนหลัก ทว่านโยบายจะมีการพัฒนาอยู่เสมอ ปรับเพิ่มนโยบายใหม่ๆ และปรับปรุงนโยบายปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่าเหมาะสมกับบริบททางวัฒนธรรม สังคม และภาษา และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของวีธีการใช้งานของชุมชน

โดยกว่าจะออกมาเป็นนโยบายต่างๆ ได้มีการศึกษา ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทำงานร่วมกับชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากต้นปีที่มีทีมงานรับผิดชอบด้านตรวจสอบเนื้อหาและดูแลด้านความปลอดภัยผู้ใช้ 1 หมื่นคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2 หมื่นคน สามารถทำงานได้ครอบคลุมในทุกเขตเวลา พูดกว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย

ดึง​​​‘เอไอ’เพิ่มความแม่นยำ

นายฮารารีเผยว่า เฟซบุ๊คมุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการ นอกจากบุคลากรคนที่คอยตรวจสอบเนื้อหาตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง ยังได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้การทำงานมีความแม่นยำมากขึ้น

“เรากำลังลงทุนด้านเอไออย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยให้สามารถตรวจจับเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎได้ในแบบเชิงรุก จากรายงานพบว่า เอไอของเรามีประสิทธิภาพในการระบุเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎบางประเภทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เฟซบุ๊ค ไม่อนุญาตการเผยแพร่เนื้อหารุนแรงต่างๆ โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาสร้างความเกลียดชังการกลั่นแกล้ง รังแก(bullying) เนื้อหาจากกลุ่มหัวรุนแรง(extremist content) ทั้งมีการขยายขอบเขตการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ตรวจสอบโพสต์ของบุคคลทั่วไปที่ถูกลบไปแล้วอีกครั้ง เมื่อไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ

ปัจจุบัน บริการยื่นคำร้องสำหรับเนื้อหาครอบคลุมภาพโป๊เปลือย, กิจกรรมทางเพศ, การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง เนื้อหาของผู้ก่อการร้าย การกลั่นแกล้งรังแก และที่มีความรุนแรง

พร้อมระบุ ปฏิบัติต่อการรายงานเนื้อหาบนแพลตฟอร์มทั้งหมดด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยไม่เกี่ยวข้องว่าบุคคลที่รายงานเนื้อหานั้นจะเป็นใคร หรือเนื้อหาที่ถูกรายงานนั้นมาจากที่ใด หากเนื้อหาดังกล่าวฝ่าฝืนนโยบายมาตรฐานชุมชน จะลบเนื้อหานั้นออกไปทันที ไม่ว่าบุคคลที่โพสต์เนื้อหานั้นจะเป็นใคร และไม่ว่าเนื้อหานั้นจะถูกรายงานเพียงหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้นก็ตาม

“ทุกการทำงานทุกมีความท้าทาย ขณะเดียวกันต้องเข้าใจถึงบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจต่อวลีหรือประโยคที่ใช้ ที่ผ่านมาหลังจากได้รับรายงานเข้ามาจะมีการรับเรื่องและตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง”