บีโอไอ เปิดเวทีแนะเกษตรท้องถิ่น เร่งขอส่งเสริมเพื่อรับสิทธิประโยชน์

บีโอไอ เปิดเวทีแนะเกษตรท้องถิ่น เร่งขอส่งเสริมเพื่อรับสิทธิประโยชน์

"บีโอไอขอนแก่น" เตรียมจัดสัมมนาแนะผู้ประกอบการภาคการเกษตร เร่งขอรับส่งเสริมการลงทุนตาม “มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่น” เผยให้สิทธิทั้งผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหญ่ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนให้ทันหมดเวลาในช่วงปลายปี 2561

นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอขอนแก่น)เปิดเผยว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 บีโอไอขอนแก่นจะจัดสัมมนาเรื่อง “บีโอไอ ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการได้อย่างไร และมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตรท้องถิ่น” ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่น” ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาเปิดให้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรท้องถิ่นของบีโอไอ เป็นมาตรการสำหรับ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ประกอบการภาคการเกษตรรายย่อยในประเทศ และกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยกรณีเป็นเกษตรกรรายย่อย จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษ เช่น ลดเงินลงทุนจากเกณฑ์ปกติ 1 ล้านบาท เหลือเพียง 500,000 บาท อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศเข้ามาใช้ในโครงการได้ สิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเงินลงทุน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หากมีการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น

“ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคการ เกษตรท้องถิ่นจะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนและพัฒนาภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยมั่นใจว่าภายหลังการสัมมนาครั้งนี้จะมีผู้สนใจและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้น” นายอิสระ กล่าว

นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดสัมมนาในจังหวัดขอนแก่นแล้ว บีโอไอยังจะจัดสัมมนาขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่จังหวัดหนองคาย โดยนอกจากให้ความรู้เรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคการเกษตรท้องถิ่น ยังให้ข้อมูลเรื่องสิทธิประโยชน์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายดังกล่าวด้วย

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่น ครอบคลุม 10 ประเภทกิจการ ประกอบด้วย (1) กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชีวภัณฑ์ (2) กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ (ที่ไม่เข้าข่ายเทคโนโลยีชีวภาพ) (3) กิจการคัดคุณภาพ บรรจุและเก็บรักษาพืชผักผลไม้ หรือดอกไม้ (4) กิจการผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ (ยกเว้น ยา สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง)

(5) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ (ยกเว้นยางรัดของ ลูกโป่ง และแหวนยาง) (6) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร (ยกเว้นที่มีขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน เช่น อบแห้ง ตากแห้ง) (7) กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตรรวมทั้งเศษวัสดุหรือขยะหรือของเสียที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร (8) กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร (ยกเว้น น้ำดื่ม ไอศกรีม ลูกอม ช็อคโกแลต หมากฝรั่ง น้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาแฟอีน แป้งจากพืช เบเกอรี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปไก่สกัด และรังนก) (9) กิจการห้องเย็น หรือกิจการห้องเย็น และขนส่งห้องเย็น และ (10) กิจการศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร