ตั้ง 4 อนุฯเตรียมทำกฎหมายลูกรองรับ หากกฎหมายหลักปลดล็อกกัญชา

ตั้ง 4 อนุฯเตรียมทำกฎหมายลูกรองรับ หากกฎหมายหลักปลดล็อกกัญชา

ตั้ง 4 อนุฯเตรียมทำกฎหมายลูกรองรับ หากกฎหมายหลักปลดล็อกัญชา อย.ระบุอำนาจรมว.สธ.คลายล็อกกัญชา ได้เฉพาะสารสกัด-น้ำมันเท่านั้น ไม่รวมส่วนเป็นพืช ย้ำใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แต่ อย.ยังควบคุมเข้มงวดทั้งการจำหน่าย-ผู้ใช้ทางการแพทย์

วันนี้(24 ต.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่างพรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพรบ.บัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด(ฉบับที่..) พ.ศ..โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม 40 คน ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการกฤษฏีกา ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้แต่งตั้งขึ้นโดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) มีหน้าที่ในการพิจารณาจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกมารองรับกฎหมายหลักที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการฯ กล่าวถึงผลการประชุมว่า ในที่ประชุมจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 4 คณะขึ้นมาทำงานแบ่งเป็น 1.คณะอนุกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย และของกลาง มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการสถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์คัดกรอง และการสันนิษฐานว่าเสพ มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา มีนพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน และ 4. คณะอนุกรรมการโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษายาเสพติด มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
ทั้ง 4 คณะจะตั้งขึ้นเพื่อให้มีกฎหมายรองมากำกับ ควบคุม ดูแล ป้องกันและติดตาม โดยจุดนี้อาจารย์หลายภาคส่วนเข้ามา โดยเฉพาะภาคประชาชน อาจต้องรวมทั้งอาจารย์ แพทย์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้กระจายอยู่ตามคณะอนุกรรมการเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายยาเสพติดจะเน้นเรื่องบทลงโทษ แต่จำเป็นต้องทราบถึงประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงบริบท่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น


“ความสำคัญของการตั้ง 4 คณะ เพราะที่ผ่านมาในทางกฎหมาย จะคำนึงถึงเรื่องคนเสพ ยาเสพ การลงโทษ และการผ่อนปรนต่างๆ ซึ่งในที่ประชุมบอกว่า จำเป็นต้องหยิบยกเรื่องประโยชน์จากการใช้สารสกัดกัญชาอย่างชัดๆ ด้วย โดยต้องดึงขึ้นมาให้เห็นถึงประโยชน์ชัดเจน ที่สำคัญเราต้องดึงประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยขึ้นมาควบรวม เพราะขณะนี้การใช้กัญชามาถึงจุดที่เกือบเป็นมาตรฐาน คือ สามารถบอกได้ว่า ในภาวะเช่นนี้ หรือโรคเช่นนี้ ควรใช้สารสกัดน้ำมันเข้มข้นแค่ไหน วันแรก วันที่สอง วันที่สาม ควรใช้แค่ไหน หรือสามารถบอกได้ว่า ควรใช้แบบหยดใต้ลิ้น หรือสวนทวาร ซึ่งทุกภาคในประเทศมีการรักษาแบบนี้อยู่ แต่ที่คนทั่วไปไม่ทราบเพราะปัจจุบันยังผิดกฎหมาย ขณะนี้ผมได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ป่วยนิรนาม ชมรมที่มีการใช้แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ในการรวบรวมข้อมูลขึ้นมา ซึ่งจะรวบรวมให้เสร็จภายในเดือนนี้ เอาข้อมูลมาตีแผ่เพื่อรองรับกับกฎหมายที่จะปลดล็อกออกมา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องการปลดล็อกกัญชานั้น มองว่ายังต้องอาศัยวิธีการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดย อย. ต้องเสนอในการประชุม และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการสธ.ลงนาม ให้สารสกัดกัญชาเปลี่ยนจากสารเสพติดประเภท 5 เป็นสารเสพติดประเภท 2 และต้องให้อย.กำกับชัดเจนว่า เมื่อกัญชาเป็นสารเสพติดประเภท 2 จะต้องเป็นยา ที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่ต้องรวมถึงพืชกัญชา เพื่อเปิดทางให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทยด้วย ขณะเดียวกันตนเห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา พืชกระท่อม พ.ศ. ฉบับประชาชน ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย โดยจะผลักดันควบคู่ไปด้วย


“สิ่งสำคัญขณะนี้ผมจะเป็นคนประสานในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาบำบัดรักษาโรค ซึ่งขณะนี้ประสานได้ 50 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ลมชัก อาการชักเกร็ง และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้แทนจาก อย. เพื่อให้ทราบว่ากัญชาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยชีวิตผู้คนได้จริง จะได้นำมาประกอบพิจารณาเมื่อปรับกฎหมาย ให้สารกัญชาเป็นประเภท 2 ใช้เป็นยาที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่รวมพืชยาด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว


ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ในการใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ สธ. ออกประกาศเพื่อให้สารสกัดและน้ำมันกัญชายกระดับจากสารเสพติดประเภท5 เป็นสารเสพติดประเภท 2 ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน จะสามารถดำเนินการตามแนวทางนี้ ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้ให้แนวทางไว้เฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัด และน้ำมันกัญชาเท่านั้น ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงพืชกัญชาได้ เนื่องจากในพรบ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ระบุกัญชาเป็นยาเสพติด


“หากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการกระบวนการทั้งหมด เช่นเดียวกันมอร์ฟีน โดยจะเป็นผู้จำหน่ายภายใต้กองทุนยาเสพติดเพียงรายเดียวเช่นเดียวกับมอร์ฟีน รวมถึงจะมีการควบคุมการจำหน่ายและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเข้มงวด โดยจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะ 4 กลุ่มอาการที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า สามารถใช้รักษาหรือบำบัดได้อย่างชัดเจนเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆ อาจอนุญาตในลักษณะศึกษาวิจัย ซึ่งจะต้องมีการออกใบอนุญาตการใช้สารสกัดจากกัญชาให้ผู้นำไปใช้ด้วย โดยผู้ใช้อาจจะเป็นเพียงแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยเท่านั้น”นพ.ธเรศกล่าว


อนึ่ง สำหรับ 4 กลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เบื้องต้นแล้วนั้น ประกอบด้วย 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้เคมีบำบัด 2. โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดรุนแรง