“ขยะ”คือ“ทองคำ” ทุนลุยแผนผุดโรงไฟฟ้า !! 

“ขยะ”คือ“ทองคำ” ทุนลุยแผนผุดโรงไฟฟ้า !! 

วันละ 7หมื่นตันคือปริมาณ“ขยะ”เมืองไทย “ขุมทรัพย์มหาศาล”ที่ผู้แข่งขัน “ธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ” รุกเปิดเกมรบ..เปลี่ยนจาก ความ “ไร้ค่า” เป็น “มูลค่า” หลังรัฐอัดมาตรการหนุน !!

เคยเป็น ดาวรุ่ง ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สำหรับ พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน” (Solar Farm) ทว่าปัจจุบันสัญญาณไม่สดใส บ่งชี้ผ่าน ผลตอบแทนการลงทุน” (IRR) ที่ลดลง หลังอัตรารับซื้อไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย และยังทิศทางว่าจะลด ต่ำลง ต่อเนื่อง 

ทว่า อีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่กำลังเป็น ดาวรุ่งพุ่งแรง คงต้องยกให้ พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ” ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะอยู่ที่ประมาณ “15-18%” ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งถือว่า สูงสุด เมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น โซลาร์ฟาร์มที่ปัจจุบันลดลงเหลือระดับ 9-11% หรือพลังงานลมที่ 12% และชีวมวลที่ 14-15%

ขณะที่ อัตราการรับซื้อไฟฟ้าตลอดอายุโครงการจากเชื้อเพลิงขยะ หรือ Feed-in Tariff (FiT) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.78-7.78 บาทต่อหน่วย ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ นอกจากการขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะยังจะมีรายได้จากการ กำจัดขยะ เพิ่มอีก โดยหากเป็นขยะอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ากว่า 1,000 บาทต่อตัน ส่วนขยะทั่วไปอยู่ที่ราว 300 บาทต่อตัน

นอกจากนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก” (AEDP) ในระยะ 10 ปี (2555-2564) ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 160 เมกะวัตต์ในปี 2564 และผลิตความร้อน 100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานจากขยะเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่นมารัฐบาลยังรณรงค์ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำขยะมาผลิตพลังงาน ประกอบด้วย การสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะด้วยกระบวนการทางความร้อน (Thermal process) เช่น กระบวนการเผาและแก๊สซิฟิเคชั่นจะได้ Adder ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ส่วนไฟฟ้าจากก๊าซจากหลุมฝังกลบและระบบหมักก๊าซชีวภาพจะได้ Adder ที่ 2.50 บาทต่อkWh

และยังได้ส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund) โดยให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการแต่ยังขาดปัจจัยการลงทุน รวมถึงยังได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดสิทธิประโยชน์ที่ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี และหลังจากนั้นอีก 5 ปี หรือตั้งแต่ปีที่ 9-13 จะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 50%

ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน AWR Lloyd คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยในระหว่างปี 2557-2579 จะเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 2.7% ต่อปี โดยประมาณการจากอัตราการขยายตัวของประชากรเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 0.03% และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.5% ในปี 2560 ดังนั้น มีแนวโน้มขยายตัวและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น 

เมื่อธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงขยะมี “ปัจจัยบวกสนับสนุนทิศทางการเติบโตในอนาคต ส่งผลให้ปัจจุบันมีทั้งผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ ต่างปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนไปหันมาสนใจรักโลกมากขึ้น!

สะท้อนผ่านบริษัทที่จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) หลากหลายอุตสาหกรรมสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงขยะ อาทิ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเผชิญหน้ากับการแข่งขันสูง และเศรษฐกิจซบเซาส่งผลให้กำลังซื้อหดตัว จำต้องปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ ไม่ผันผวนตามศรษฐกิจมากนัก 

ที่ผ่านมา บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างคลังสินค้าหรือโรงงานตามความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะเจาะจง (Built-to-Suit) ของ จรีพร จารุกรสกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เตรียมยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -PPA) จากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จากปีนี้รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะ 3 เมกะวัตต์

ขณะที่ พระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทดแทน โดยตั้งขอ PPA โรงไฟฟ้าขยะชุมชนจำนวน 24 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 พื้นที่ พื้นที่ละ 8 เมกะวัตต์ โดยมั่นใจว่ามีพันธมิตรบ่อขยะชุมชนที่แข่งแกร่งบนพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ด้าน บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตเบาะหนังรถยนต์ของ วีระพล ไชยธีรัตต์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT คาดหวังว่าจะเข้าร่วมขอ PPA โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มอีก หลังจากไม่ได้รับการคัดเลือกโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ประกอบการพลังงานทางเลือกชีวมวลรายใหญ่ อย่าง บมจ.ทีพีซี พาวเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ของ ตระกูลจันทร์พลังศรี โดย เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH ก็เตรียมเข้าร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถมารถระบุเป้าหมายกำลังการผลิตได้ เนื่องจากต้องรอ กกพ. ประกาศพื้นที่ที่มีศักยภาพก่อน

สอดคล้องกับ ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาซัพพลายเออร์ พยายามสร้างโมเดลว่า ขยะ คือ ทองคำ” โดยการทำให้เห็นว่าหากลงทุนแล้วจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในระดับสูงและสร้างรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว

แต่ในความเป็นจริงการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายหากผู้ประกอบการไม่มีความรู้และประสบการณ์ จากอดีตที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ ไปตรงไหนทุกที่ก็มีแต่คนรังเกียจ...!! 

นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจรับกำจัดขยะต้องพบเจอตลอด หากต้องการปักหมุดตั้งโรงงานกำจัดขยะ ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG บอกเช่นนั้น !!

เธอ ยังเล่าต่อว่า ตอนนี้บริษัทเริ่มมาเติมในส่วนที่ยังไม่ได้ทำคือการปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจใหม่ให้คนภายนอกรับรู้และเข้าใจธุรกิจมากขึ้น เปรียบเหมือนเรากำลังมาเติมกิ่งก้านใบให้ต้นไม้สวยงามขึ้น” โดยในปีหน้า บริษัทจะมีโปรเจคคืนกำไรให้สังคม และช่วยให้เราอยู่ร่วมกับชุมชุนได้ในระยะยาว นั่นคือ โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชุนตามศาตร์ของพระราชาในรัชกาลที่ 9”  สืบเนื่องจากธุรกิจของเราไปที่ไหนก็จะมีแต่คนไม่ตอนรับ ดังนั้น บริษัทจึงมีหาที่ทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนชุมชุนเกือบ 90% มาเป็นพนักงานของเราแล้ว 

ปัญหาของธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะเรื่อง วิธีการกำจัดขยะและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยสำคัญหากคนที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม ขยะชุมชนบริษัทมีความสนใจลงทุนหากมีโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเคยลงทุนแล้ว ซึ่งพบว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไม่ถูก และปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายที่มาติดต่อให้บริษัทไปทำให้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทเคยรับงานกำจัดขยะชุมชนเป็นเทศบาลจังหวัดนครราชสีมา

ปัจจุบัน BWG ดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯ โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนที่ไม่อันตราย (Non-Hazardous Waste) และที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 6,000-7,000 รายต่อปี ซึ่งเมืองไทยตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยตัวเลขโรงงานในเมืองไทยมี หลักแสนแห่ง” แต่คิดเป็นสัดส่วนโรงงานที่มีมาตรฐานในการกำจัดขยะ แค่ 20%” ของโรงงานทั้งหมด ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตอีกมาก

ขณะที่ ราคาการกำจัดขยะได้มาตรฐานของเมืองไทยถือว่าต่ำกว่าในต่างประเทศถึง “4-5 เท่า” ประกอบกับนโยบายภาครัฐเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น มองว่าทิศทางอนาคตน่าจะมีโรงงานเข้ามากำจัดขยะให้ถูกต้องและมีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ ธุรกิจใหม่ที่บริษัทเริ่มลงทุน อย่าง ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าในธุรกิจใหม่ ภายใต้ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) เป็นผู้ให้บริการผลิตและจาหน่ายกระแสไฟฟ้า จากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดย BWG ถือหุ้น 60% และพันธมิตร 40%

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 16.5 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ และคาดว่าปีหน้าจะ COD อีก 2 แห่ง กำลังการผลิต 8.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าโรงแรกๆ ที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม (RDF)

อนาคตอยากมีจำนวนโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หากภาครัฐเปิดประมูลใบอนุญาต เราก็พร้อมจะร่วมประมูล ซึ่งปัจจุบันเราเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของเมืองไทย และเรามีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเตาเผาขยะที่เป็นอันตรายอีกด้วย

ขณะที่ ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP บอกว่า ปัจจุบันขยะในเมืองไทยอยู่ที่วันละ 70,000 ตัน ซึ่งหากนำขยะทั้งหมดมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากขยะแค่ 100 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น จะเห็นว่าอนาคตการเติบโตของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐมีความชัดเจนในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ คือ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการให้นำขยะมาจัดการโดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยรัฐสนับสนุนค่ารับซื้อไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในราคา 5.08 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี และในช่วง 8 ปีแรก จะได้รับอีก 0.70 บาท ส่วน ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก” (SPP) จะได้รับค่าไฟฟ้า 3.66 บาท

โดยปัจจุบันบริษัทรับขยะชุมชน ขยะฝังกลบ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่โรงงานของบริษัท โดยสามารถรองรับปริมาณขยะชุมชนได้ถึง 6,000 ตันต่อวัน คิดเป็นปริมาณขยะมากกว่า 3,000 ตันต่อวัน เพื่อผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่มีคุณภาพ โดยเชื้อเพลิง RDF ที่บริษัทผลิตได้มีค่าความร้อนเฉลี่ยสูงขึ้นมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ทำสัญญารับขยะ กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆโดยตรง และบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถจัดส่งขยะให้กับบริษัทได้มากกว่า 100 สัญญา

เขา ยังบอกว่า ปีนี้ตั้งเป้ารายได้แตะ หมื่นล้าน จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,188.15 ล้านบาท โดยเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากปีนี้จะมีการจำหน่ายไฟฟ้า COD เพิ่มมากขึ้น ทำให้ไตรมาส 4 ปี 2561 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 440 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 265 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกด้วย

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเครื่องกำเนิดไอน้ำ (Boiler) เสริมประสิทธิภาพกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าในปัจจุบันจากใช้กำลังการผลิตได้เพียง 80% เพิ่มขึ้นเป็น 95%

ขณะที่ในครึ่งปีหลังบริษัทเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 5 โครงการ กำลังการผลิตรวมมากกว่า 70 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการที่อ่อนนุช กำลังการผลิตมากกว่า 20 เมกะวัตต์ โครงการที่หนองแขม มากกว่า 20 เมกะวัตต์ โครงการที่นครราชสีมา 10 เมกะวัตต์ โครงการที่สงขลา 10 เมกะวัตต์ โครงการที่ชลบุรี 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ย 3 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะรู้ผลบางโครงการ

สำหรับแหล่งเงินทุนของบริษัทนั้น ที่ผ่านมาบริษัทได้ขอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อขอวงเงินออกหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะออกหุ้นกู้ล็อตแรก 3,000-4,000 ล้านบาทภายในปีนี้ เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำ และเตรียมพร้อมเพื่อเข้าประมูลงานเพิ่มเติม

ด้านแผนการลงทุนซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในต่างประเทศ ที่ผ่านมามีการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่น่าสนใจมากพอ เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ยังคงศึกษาอย่างต่อเนื่อง

--------------------------

โบรกฯแจงโจทย์หิน” ยื่นประมูลไฟฟ้าขยะ

บล. โนมูระ พัฒนสิน มองว่า โรงไฟฟ้าขยะชุมชนค่อนข้างเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่มีความสนใจเข้าร่วมประมูลได้มากกว่าขยะอุตสาหกรรม เพราะผู้ประกอบการสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับชุมชนหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของประเทศ ที่มีความพร้อมบริหารจัดการวัตถุดิบขยะมูลฝอยได้ ทำให้ประเมินได้ยากว่าผู้ประกอบการรายใดที่โดดเด่นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อกำหนดการเบื้องต้นในเข้าประมูลครั้งนี้ค่อนข้างรัดกุมมาก โอกาสจะเป็นของผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจริงเท่านั้น

โดย บจ. ที่มีศักยภาพในการยื่นเข้าประมูลขยะชุมชนในครั้งนี้คือ บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH), บมจ.ทีพีไอ โพลีน(TPlPL), บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO), บมจ.บริหารและพัฒนาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO), บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT), บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) และ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (lEC) แต่อย่างไรก็ตาม มีเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง เพราะอุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันสูงดังนั้นย่อมจะมีผู้ที่ผิดหวังจากการขอใบอนุญาติจำหน่ายไฟฟ้า( PPA ) ซึ่งจะส่งผลด้านลบต่อราคาหุ้นอย่างเฉียบพลัน

ด้าน บล. เอเซียพลัส ระบุว่า ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนยังไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะสั้นๆ เพราะโครงการส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการลงทุน และต้องรอการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐ โดยนักลงทุนจะต้องทำใจรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดไว้ล่วงหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการเปิดประมูลของภาครัฐ ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว หรือ ภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดนอกจากนี้ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตด้วยว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะประเด็นเหล่านี้จะมีผลต่อกำไรโดยตรงซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้นตามมาทันที