‘เจโทร’นำร่องสตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้าไทย

‘เจโทร’นำร่องสตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้าไทย

“เจโทรอินโนเวชั่น” นำ 7 สตาร์ทอัพญี่ปุ่นหาพาร์ตเนอร์ไทย ชูจุดเด่น “ดีพเทค-เอไอ- หุ่นยนต์” หวังพึ่งความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของนักธุรกิจไทยสร้างความแข็งแกร่ง โปรยยาหอมปีหน้าเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ

 “เจโทรอินโนเวชั่น”นำร่อง7 สตาร์ทอัพญี่ปุ่นหาพาร์ตเนอร์ในไทย ชูจุดเด่น “ดีพเทค-เอไอ- หุ่นยนต์” หวังพึ่งความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของนักธุรกิจไทยสร้างความแข็งแกร่ง โปรยยาหอมปีหน้าเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ

ในงาน CEBIT ASEAN Thailand 2018 มหกรรมเทคโนโลยีสารสนทเศและดิจิทัล ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.ที่ เมืองทองธานี ฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)แชร์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพของรัฐบาลญี่ปุ่น มุ่งสร้างยูนิคอร์นให้เกิด 20 รายในอีก 5 ปีข้างหน้าจากที่มีอยู่ 2 รายในปัจจุบัน

20 ยูนิคอร์นเกิดในอีก 5 ปี

ภาพรวมประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจใหม่และสตาร์ทอัพเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 แสนรายต่อปี ซึ่งตามยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นภายใต้โครงการ เจ-สตาร์ทอัพ ที่รวม 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ เจโทร ทำการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ 92 รายจาก 10,000 ราย เพื่อปลุกปั้นให้เกิดเป็นยูนิคอร์น 20 รายภายในปี 2566 พร้อมทั้งพร้อมเพิ่มเม็ดเงินลงทุนวีซีอีกเท่าตัวจากปัจจุบัน 0.025 ของจีดีพีญี่ปุ่น หรือคิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านเยน

จึงเป็นที่มาของโครงการเจโทร อินโนเวชั่น โปรแกรม (JIP) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรายใหม่ให้มีความรู้ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยนำสตาร์ทอัพ 7 และหนึ่งในจำนวนนั้นมาจาก 92 รายที่มีศักยภาพเข้ามาหาพาร์ตเนอร์ในไทย จุดแข็งของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นคือ การทำ ดีพเทค เทคโนโลยี เอไอ หุ่ยยนต์ แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดเท่ากับคนไทย จึงต้องการหาหุ้นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการทำตลาดทั้งในญี่ปุ่นและไทย ในการพัฒนาสินค้าและบริการร่วมกัน

นอกจากนี้ สาเหตุที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจเข้ามาขยายตลาดในไทย เพราะแนวโน้มและภาพรวมตลาดสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียนกำลังขยายตัวต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบ 60 ล้านบาทในการตั้งศูนย์เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ ( JETRO Global Accelration Hub) จำนวน 12 แห่งทั่วโลก หนึ่งในนั้นอยู่ที่สิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทย ในปีหน้าจะเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ เพื่อลิงก์กับฮับในสิงคโปร์ อนาคตหากอีโคซิเต็มสตาร์ทไทยมีความพร้อมอาจตั้งศูนย์เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพในไทยก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ การเข้ามาร่วมในงาน CEBIT ASEAN Thailand 2018 ที่กำลังจัดในประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น ภายในงานจะมีการงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทำความรู้จักซึ่งกันและกันมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนมองว่า สตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้าถึงยาก ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทที่เป็นยูนิคอร์นแล้ว 2 บริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว

“รูปแบบการทำธุรกิจสตาร์ทอัพญี่ปุ่น จะไม่ใช่เป็นการเข้ามาลงทุนใช้พื้นที่ในไทยเหมือนการลงทุนทำธุรกิจในอดีต แต่จะเป็นการร่วมมือกับหุ้นส่วนในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต ประเทศไทยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้มาก”

ทุนต่างชาติจะเข้าไทยเพิ่ม

สำหรับ 7 สตาร์ทอัพ เช่น Kotozna เป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่สามารถคุยได้ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดหรือโซเชียลมีเดียทั้ง Messenger, LINE, Wechat, Kakao, Popinc มีระบบเอไอค้นหาภาพ เหมาะสำหรับใช้ประโยชน์ในธุรกิจโฆษณาอี-คอมเมิร์ซ สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยระบบบิ๊กดาต้า, Skydisc IoT software ที่ใช้บริหารจัดการโรงงานให้อัจฉริยะ และ AI Silk เซนเซอร์จากเส้นไหมใช้จับสัญญาณชีพร เป็นต้น

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่องสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น ก่อนหน้าที่เอ็นไอเอทำสตาร์ทอัพร่วมกับเนโด้ เป็นหน่วยงานระดับเมือง ขยับขึ้นมาเป็น เจโทร ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภาครัฐบาล ที่ต้องการนำสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นมาพัฒนาธุรกิจจับคู่ธุรกิจที่ประเทศไทย เพราะตลาดสตาร์ทอัพในไทยทั้งตลาดและคอร์ปอเรทวีซี น่าสนใจ

“ขณะนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เนื้อหอมขึ้นมาทันทีหลังทำเอ็มโอยูกับเจโทรญี่ปุ่น เราพร้อมต้อนรับสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยและทำงานกับสตาร์ทอัพไทย พร้อมกันนี้สตาร์ทอัพไทยหวังจะไปโตในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เชื่อว่า ด้วยวัฒนธรรมความใกล้ชิดที่มีมาระหว่างสองประเทศน่าจะทำให้การทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น แค่เปิดมุมสตาร์ทอัพขึ้นมาเท่านั้น รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนสนใจจะไปเปิดตลาดญี่ปุ่น เหมือนอย่างไลน์โตในเกาหลีแต่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น ฉะนั้น ไทยก็เช่นเดียวกัน”

ปีหน้าคาดว่าสตาร์ทอัพในเมืองไทยจะดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันสตาร์อัพไทยจะออกไปต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน