'2 นายทหารยศพันเอก' ค้ามนุษย์โรฮิงญา นอนเรือนจำลุ้นประกันชั้นอุทธรณ์

'2 นายทหารยศพันเอก' ค้ามนุษย์โรฮิงญา นอนเรือนจำลุ้นประกันชั้นอุทธรณ์

ศาลอาญา พิพากษาค้ามนุษย์โรฮิงญาอีกสำนวน "2 นายทหาร" โดนคุกอ่วม 27 ปี ไม่รอลงอาญา ร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติค้ามนุษย์ ทนายเล็งอุทธรณ์สู้คดี พร้อมยื่นที่ดิน-เงินสดกว่าล้านขอประกัน รอศาลอุทธรณ์พิจารณา

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.61 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาค้ามนุษย์โรฮิงญา สำนวนที่ 2 หมายเลขดำ คม.1/2561 ที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 ยื่นฟ้อง พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ มากสุวรรณ อดีตรอง ผอ.กอ.รมน.ส่วนหน้าจ.สตูล และ น.อ.หรือนายกัมปนาท สังข์ทองจีน สังกัดกองทัพเรือภาค 3 ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย- พม่า จำเลย ที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ตามฟ้องอัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.54 - 1 พ.ค.58 จำเลยทั้งสองได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่อำนวยความสะดวกในการกระทำผิดโดยละเว้นไม่กวดขันจับกุม ลักษณะร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น รวมทั้งรับประโยชน์อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นกับพวกสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แบ่งหน้าที่กันทำโดยให้พวกจำเลยซึ่งอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา อายุระหว่าง 15 ปี และอายุเกิน18 ปี จากประเทศบังกลาเทศ และรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ โดยบังคับ , หน่วงเหนี่ยวกักขัง , ทารุณโหดร้ายเพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายเหล่านี้ต้องไปใช้แรงงานทาสตามประเทศต่างๆ และเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชาวต่างด้าวเหล่านั้นไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เหตุเกิดที่จ.สตูล สงขลา และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ขณะที่จำเลยทั้งสอง ให้การปฏิเสธ อ้างว่า กระทำตามหน้าที่ ไม่มีส่วนร่วมกระทำผิด โดยระหว่างพิจารณาคดี 2 นายทหาร ได้ประกันตัวไป ซึ่งวันนี้ทั้งสอง ก็เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา

โดย ศาล พิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์-จำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว ฟังได้ว่า พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งกับ พ.ต.ท.ชยพล ใหญ่ยิ่ง สว.สน.ตำรวจน้ำ 3 ซึ่งควบคุมตัวชาวโรฮิงญาไว้ทำนองว่า มีขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งคนต่างด้าวชาวโรฮิงญาไปประเทศที่ 3 และขอให้ส่งตัวคนเหล่านั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่ พ.ต.ท.ชยพล ยืนยันว่าจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายก่อน จึงจะผลักดันได้เฉพาะผู้ที่อยู่บนเรือเท่านั้น ซึ่งอ้างว่ามีการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้วสั่งให้พยานทำบันทึกส่งมอบตัวชาวโรฮิงญาให้ น.อ.หรือนายกัมปนาท จำเลยที่ 2 จากนั้นมีทหาร 6-7 นายแต่งเครื่องแบบ นำเรือหางยาวมารับชาวโรฮิงญาไป แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ลงเรือไปด้วย ต่อมาอีก 2-3 วันพยานได้ได้ควบคุมชาวโรฮินจาที่ลักลอบเข้าเมือง แล้ว พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ จำเลยที่ 1 ก็มาขอรับตัวไปในลักษณะเดียวกันอีก

ศาล เห็นว่า ตามหลักการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล(Standard Operating Proceddure) หรือ S0P ตามหนังสือลับมากของสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า กรณีพบผู้หลบหนีเข้าเมือง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมตัว นำส่งพนักงานสอบสวนพื้นที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่ง พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ จำเลยที่ 1 ไปขอรับตัวชาวโรฮิงญาโดยไม่มีอำนาจดำเนินการ อีกทั้งเมื่อรับตัวแล้วก็ไม่มีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการผลักดันคนต่างด้าวชาวโรฮิงญากลับอ้างความมั่นคงขอรับตัวชาวโรฮิงญาที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไว้เองเพื่อผลักดันออกนอกราชอาณาจักร พฤติการณ์จึงเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยทุจริตถือว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีน้ำหนักมั่นคงได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าใช้โอกาสที่ต้องดำเนินการผลักดันหรือปฏิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวชาวโรฮิงญาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ส่วน น.อ.หรือนายกัมปนาท จำเลยที่ 2 รับฟังได้ว่า เป็นผู้นำเช็คเงินสด ธ.ไทยพาณิชย์ฯ สาขาเทสโก้โลตัส ระนอง จำนวน 27 ครั้งๆละ 60,000 - 100,000 บาทรวม 1,623,530 จากน.ส.นัยนา ปั้งชวด ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ เข้าบัญชี โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีหน้าที่นำเงินค่าเสบียงกำลังพลและเงินค่าปฏิบัติการข่าว เดือนละ 30,000 - 60,000 บาทเข้าบัญชี รวมทั้งเงินที่จำเลยที่ 2 ร่วมทำธุรกิจอาหารทะเล-ทำเรือประมงเดือนละ 100,000 - 300,000 บาทนั้น ศาล เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารับเงินค่าเสบียงและค่าปฏิบัติการข่าวเข้าบัญชีจริง อีกทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดงว่าร่วมทำธุรกิจส่งอาหาทะเล-ทำเรือประมง จึงเป็นข้ออ้างลอยๆ ไม่น่ารับฟังเพราะเงินที่นำเข้าบัญชีแต่ละครั้งมีจำนวนมากเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงเกินกว่าที่ได้รับจากเงินเดือน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติด้วย ซึ่งพฤติการณ์จำเลยที่ 2 นั้นเป็นผู้รับเงินหรือผลประโยชน์ค่าตอบแทน ช่วยดูแลการขนส่งชาวโรฮิงญา

โดยการกระทำของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5(1)(2) 825 , พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6(1) , 9 วรรคสอง , 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม , 13 วรรคหนึ่ง , 52 วรรคหนึ่ง กับพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม

จึงพิพากษาว่า ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการจึงต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า จึงจำคุกคนละ 8 ปี , ฐานร่วมกันตั้งแต่ 3 คนค้ามนุษย์แก่บุคคลอายุเกิน 18 ปี ก็ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า ให้จำคุกคนละ 12 ปี , ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นเจ้าหน้าที่ค้ามนุษย์กับบุคคลอายุเกิน 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 ปี และฐานร่วมกันรับ-ให้ที่พักพิงแก่บุคคลต่างด้าว จำคุกอีกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 27 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าแก่ผู้เสียหายด้วย ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

ขณะที่ ทนายความ กล่าวเพียงสั้นๆว่า จะยื่นขอประกันตัวจำเลยและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป โดยภายหลังฟังคำพิพากษา พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสด รวม 1.3 ล้านบาท ขอประกันตัวระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ส่วน น.อ.หรือนายกัมปนาท จำเลยที่ 2 ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสด มูลค่ารวม 2,779,025 บาท

ขณะที่เมื่อเวลา 16.30 น. ศาลพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นควรส่งคำร้องของประกันตัวของจำเลยทั้งสอง ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งให้หรือไม่ให้ประกันตัวต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาคำร้อง ประมาณ 3-5วันทำการ ดังนั้นวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้ควบคุมตัว พ.อ.หรือนายณัฏฐ์สิทธิ์ จำเลยที่ 1 และน.อ.หรือนายกัมปนาท จำเลยที่ 2 ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนระหว่างรอฟังคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีค้ามนุษยชาวโรฮิงญา สำนวนแรกนั้น ศาลอาญาโดยแผนกคดีค้ามนุษย์นั้นได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.60 ซึ่งเป็นจำเลยชุดใหญ่ 102 คน

ซึ่งศาลให้จำคุก 78 ปี นายบรรจง หรือจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา จำเลยที่ 1, นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 และ นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 ที่เป็นอดีตผู้บริหารท้องถิ่นและอดีตสมาชิกท้องถิ่น ฐานค้ามนุษย์บุคคลที่อายุไม่เกิน15 ปีและอายุเกิน 15 ปีกับอายุเกิน 18 ปีและมีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติฯ กับให้จำคุก 27 ปี พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และจำเลยร่วมอื่นๆ อีกรวม 62 คนที่รับโทษแตกต่างกันไปตามพฤติการณ์ที่ร่วมกระทำผิดในขบวนการค้าแรงงานเมียนมาและบังกลาเทศ ซึ่งเป็นชาวโรฮิงญาโดยโทษต่ำสุดจำคุก 14 ปี 3 เดือน ส่วนโทษสูงสุดคือจำคุก 94 ปี นายซอเนียง อานู หรืออันวา หรือโซไนท์ สัญชาติเมียนมา ที่เป็นนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งนอกจากความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แล้วยังผิดฐานให้ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย

โดยศาลให้จำเลย 62 ราย ที่ศาลพิพากษาลงโทษชุดแรกนั้น ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายต่อเสรีภาพ กับทุกข์ต่อจิตใจและร่างกาย และดารขาดรายได้ทำมากินกับผู้เสียหายทั้งที่เป็นเด็กชาย 7 ราย กับและผู้เสียหายที่อายุกว่า 15 ถึง 18 ปี จำนวน 58 คนด้วย ตั้งแต่รายละ 50,000 159,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,400,250 บาทด้วย