ทปอ.เปิดตัว Mytcas.com เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลทีแคส

ทปอ.เปิดตัว Mytcas.com เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลทีแคส

ทปอ.เปิดตัว Mytcas.com เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร พร้อมเปิดตัวเมนู TREQ(ที-เรก) ช่วยนักเรียนวางแผนการสมัคร อธิบายเกณฑ์การคัดเลือกทีแคส

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดตัวเว็บไซต์ Mytcas.com ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ TCAS62 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยมี น.ส.เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รักษาการเลขาธิการทปอ. กล่าวว่าทปอ.ได้มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาทีแคส 62 จากผลประชาพิจารณ์ในทีแคส 61 โดยมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคสขึ้นมา เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทีแคสอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยระบบฐานข้อมูล องค์ประกอบ และเกณฑ์การคัดเลือกทีแคส
นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการทปอ.กล่าวว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีเมนูแรกคือ TCAS Requirement หรือ TREQ(ที-เรก) ซึ่งเป็นที่ให้นักเรียนได้มีฐานข้อมูลครบวงจร ใช้ในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัคร ทีแคส 62 รวมถึงเพื่อเป็นการบริหารจัดการหลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมระบบทีแคส 62 และรวบรวมเป็นข้อมูลแก่นักเรียนใช้สำหรับการวางแผนการสมัครแต่ละรอบ ซึ่งมีความแตกต่างกัน และสามารถเชื่อมโยงลิงก์ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ นักเรียนจะได้เห็นข้อมูล สาขาที่ตนเองจะเรียน มีสถาบันใดเปิดการเรียนการสอน และแต่ละรอบสถาบันอุดมศึกษาเปิดรับรอบละเท่าใด ใช้ประกอบการตัดสินใจและยืนยันสิทธิ์ในแต่ละรอบของระบบทีแคส 62 ที่ให้บริการบนเว็บแอปพลิเคชั่น Mytcas.com นอกจากนั้น ได้มีคู่มือสำหรับนักเรียน และคู่มือสำหรับโรงเรียน อธิบายข้อกำหนดต่างๆที่แต่ละฝ่ายต้องดำเนินการ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทันที


"ตอนนี้มีนักเรียนที่เข้ามาในระบบแล้วจำนวนระบบ 45,000 คน ตั้งแต่เปิดวันที่ 1 ต.ค.2561 ซึ่งนักเรียนสามารถอัพโหลดข้อมูลการรับสมัครในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน และรอบที่ 2 โควตาเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการพัฒนาระบบ เมนูอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีระบบที่ทำงานเต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 ธ.ค. 2561"นายพีระพงศ์ กล่าว

นายวิกรม อาฮูยา นักวิชาการ ทปอ. กล่าวว่า เมนู TREQ แบ่งการใช้งานออกเป็น2 ส่วน ได้แก่ การใช้งานของเจ้าหน้าที่สถาบันการศึกษาผ่าน TREQ Info Management และการใช้งานของนักเรียน ผ่านระบบ TREQ Search and Display ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลนั้น เมนูดังกล่าวได้ถูกออกแบบให้สามารถอำนวยความสะดวกในการกรอบข้อมูลของตัวแทนจากสถาบันการศึกษา ด้วยการส่งข้อมูลจำนวนรับ องค์ประกอบ คะแนน เกณฑ์การคัดเลือก และข้อมูลอื่นๆ ที่มีความสำคัญสำหรับการทำ Clearing House ที่สถาบันการศึกษาส่งเข้ามาในรูปแบบ Microsoft Excel เข้าสู่ระบบ TREQ Web Application โดยอัตโนมัติ ดังนั้น ข้อมูลมีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เมื่อมหาวิทยาลัยส่งข้อมูลมาก็จะมานำเสนอ ความถูกต้องของข้อมูลมั่นใจได้ว่าไม่มีความผิดพลาดอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าว มีการรองรับแบบอันนิมิเต็ด อีกทั้งยังเป็น API และCloub Storage ที่รองรับการพัฒนา Realtime Application บนหลายแพลตฟอร์ม และใช้เทคโนโลยีมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมถึงมีแพลตฟอร์ม Google Firebase มีร้อยละของ Uptime สูงถึง 99.95% ทำให้มั่นใจได้ว่าตัวระบบดังกล่าวไม่มีปัญหาเว็บล่ม รวมถึงระบบทีแคสใหญ่ที่มีการใช้ระบบเดียวกันจึงจะไม่มีปัญหาเว็บล่มอย่างแน่นอน ให้บริการแก่นักเรียนและเจ้าหน้าที่สถาบันการศึกษาทุกท่านได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพด้วย