เซ็นเซอร์เตือนก่อนล้ม เฝ้าระวังสูงวัย/ผู้ป่วย-ลดภาระงานผู้ดูแล

เซ็นเซอร์เตือนก่อนล้ม เฝ้าระวังสูงวัย/ผู้ป่วย-ลดภาระงานผู้ดูแล

ผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย” โดย ผศ.สุรภา เทียมจรัส นักวิจัยเนคเทค ทำหน้าที่เฝ้าระวังและส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์เกิดขึ้น

เซ็นเซอร์จิ๋วในรูปแบบแผ่นแปะทำหน้าที่เฝ้าระวังผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ และส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหากมีเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์เกิดขึ้น เช่น ตรวจพบว่าอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงจะล้มหรือเดินออกนอกบ้าน เพื่อให้เข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแลทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล

ผลงานวิจัยหัวข้อ “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย” โดย ผศ.สุรภา เทียมจรัส นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล (ประเทศไทย) เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ทุนจากกองทุนนิวตัน (Newton Fund) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย


นักวิจัยได้ศึกษาพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีโครงข่ายเซ็นเซอร์ร่างกายและไอโอที (Internet of Things) มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุ เริ่มจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้จากผู้ดูแล ผู้ป่วยและผู้สูงอายุจากหลายๆ แหล่ง เพื่อนำมาพัฒนาอุปกรณ์และระบบสำหรับเฝ้าระวัง พบว่า ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย คือแผลกดทับและการลื่นหกล้ม จึงมุ่งพัฒนาเซ็นเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็กด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กองทุนนิวตัน (Institutional Links) และความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชน โรงพยาบาลและศูนย์แฮมลิน อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน


“เราเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นอุปกรณ์จับความเคลื่อนไหว โดยศึกษาข้อมูลท่าทางการล้มจากผู้สูงอายุกว่า 50 คนในสถานพยาบาล 5 แห่งแล้วนำข้อมูลมาพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน 2 รายได้เป็นอุปกรณ์แจ้งเตือนก่อนการล้มและพิกัดตำแหน่ง โดยจะเฝ้าดูผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการล้ม เช่น ได้รับยาบางชนิด เพิ่งฟื้นตัวจากยาสลบ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบการลงจากเตียงหรือการเดินก็จะส่งสัญญาณไปยังผู้ดูแลให้มาดูแลทันที จึงเป็นการป้องกันก่อนที่จะล้ม เป็นต้น”


นอกจากนี้ ทีมงานยังศึกษาหาจุดที่เหมาะสมที่สุดของร่างกายที่จะติดเซ็นเซอร์ โดยทดสอบติดเซ็นเซอร์ 8 จุดทั่วร่างกาย เช่น ต้นขา ข้อมือ ข้อเท้า สะโพกและเอว พบว่า ช่วงสะโพก เหมาะสมที่สุดเพราะตรวจจับได้ทุกการเคลื่อนไหว ทั้งยังออกแบบระบบให้รองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ผ่านเทคโนโลยี IoT เพื่ออำนวยความสะดวกในการขยายงานด้านการแพทย์อื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ในโครงการได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยี หรือ IEC 60950-1 และ มาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (CISPR22 และ CISPR24) ขณะนี้ทดสอบใช้งาน 30 ตัวในโรงพยาบาล 3 แห่งและมีแผนจะผลิตเพิ่มอีก 100 ตัวสำหรับใช้ในโรงพยาบาล 8 แห่ง เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในวงกว้าง ร่วมกับบริษัทเอเมทเวิร์คส์ จำกัด และ อัลฟ่า อีเอ็มกรุ๊ป คาดว่าจะเริ่มได้ในปีหน้า