บอร์ดสสว. เห็นชอบ อนุมัติงบ 1.2 พันล้าน เริ่มงานปี 2562 

บอร์ดสสว. เห็นชอบ อนุมัติงบ 1.2 พันล้าน เริ่มงานปี 2562 

บอร์ดสสว. เห็นชอบ อนุมัติงบ 1,234.7077 ล้านบาท ให้สสว. เริ่มงานปี 2562 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงในนิยาม SME ใหม่

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ซึ่งที่ประชุม มีมติเห็นชอบตามที่ สวว.เสนอ 4 ประเด็นสำคัญได้แก่

1. เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี 2562 แผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล จำนวน 1,234.7077 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 974.7077 ล้านบาท และเงินงบประมาณจากกองทุนสสว. อีกจำนวน 260 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ 4 ด้านของ สสว. ปี 2562 ในการส่งเสริม SME ของประเทศ

2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ... เพื่อใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากเดิมที่ได้กำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎกระทรวงได้กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545 ไว้คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีจำนวนแรงงงาน 50-200 คน สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน 50-200 ล้านบาท


โดยการดำเนินงานในเรื่องที่ผ่านมาคือ สสว. ได้ดำเนินการทบทวนและกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ โดยพิจารณาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ จำนวนการจ้างงาน มูลค่าทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) รายได้ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ การพิจารณาถึงข้อดีและข้อจำกัดของเกณฑ์ต่างๆ การศึกษานิยาม SME ของต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างของจำนวน SME ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าการกำหนดนิยามส่วนใหญ่จะมีการกำหนดนิยามของวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) ไว้ด้วย และเกือบทุกประเทศจะกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้เกณฑ์การจ้างงานหรือรายได้กิจการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้


นิยามวิสาหกิจรายย่อย ภาคการผลิต บริการ/การค้า (ค้าส่ง-ค้าปลีก) จำนวนแรงงานไม่เกิน 5 คน รายได้กิจการ ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท


นิยามวิสาหกิจขนาดขนาดย่อม ภาคการผลิต แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ภาคบริการ/การค้า แรงงานไม่เกิน 30 คน รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท


วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคผลิต แรงงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการ แรงงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท และภาคการค้า แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยในกรณีที่จํานวนการจ้างงานเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดหนึ่ง แต่จำนวนรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจอีกขนาดหนึ่ง ให้ถือ จํานวนการจ้างงานหรือรายได้ที่มากกว่า เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

3.เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 16 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน


โดยความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน และมีข้อสั่งการให้ สสว. ดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากอาหาร การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจรและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต (Future Food) ซึ่งตามโครงการนี้ สสว.ได้มีการดำเนินการแล้วภายใต้โครงการปั้นดาว ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือของ 8 หน่วยร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สสว. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีสินค้าเกษตรที่นำมาเพิ่มมูลค่า ประกอบด้วย ถั่วลายเสือ กระเทียม งา และบุก


นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้สสว. ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาการปลูกพืชบุกและเงินทุนสำหรับการปลูกพืชบุก รวมทั้งให้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากการเกษตร และจัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ อาทิ กล้วยตาก กาแฟ กระเทียม ซึ่งสสว.ได้ดำเนินการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดทำเป็นโครงการต้นแบบแก้ไขปัญหาความยากจน จ.แม่ฮ่องสอน

4.เห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SME ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน งบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 110 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการในระยะแรกจำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 260 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย SMEs 5,000 ราย โดยเพิ่มวงเงินการซื้อประกันความเสี่ยง FX Options จาก 30,000 บาทต่อราย เป็น 50,000 บาทต่อราย และเน้นเพิ่มการอบรมรูปแบบ Online (E-learning) ควบคู่ไปกับการบรรยายสด และการอบรมด้วย VDO รวมทั้งนำเสนอโปรโมชั่นสำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ในการลดค่าธรรมเนียมครึ่งราคาสำหรับประกันการส่งออก