วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 ต.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงต่อเนื่อง ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ร่วงหนัก

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 3 ต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า ตามตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างหนัก โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงมากสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับลดลงกว่าร้อยละ 3.3 หลังได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงเหนือร้อยละ 3 ประกอบกับ ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มที่สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2.6 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับลดกำลังการกลั่นลงกว่า 352,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง

+/- ผู้ผลิตน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกยังคงหยุดดำเนินการผลิตราว 680,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเฮอร์ริเคน Michael เคลื่อนตัวเข้าชายฝั่งสหรัฐฯ ในวันอังคารที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัท BP Exxon และ Chevron ได้เริ่มส่งพนักงานกลับแท่นขุดเจาะเพื่อเตรียมพร้อมที่จะกลับมาผลิตใหม่ โดยคาดว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกจะกลับมาผลิตได้อีกในเร็วๆ นี้

+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านปรับตัวลดลงกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. 61 ที่ผ่านมา แตะระดับ 3.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และอินเดียได้ทำการปรับลดปริมาณการนำเข้าจากอิหร่านอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในญี่ปุ่นคาดจะกลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้งในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อของอินโดอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นที่ปรับตัวลงกว่าร้อยละ 43.6 จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

           ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

           ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 78-83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ภาวะตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากเดือน เม.ย. ที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงกว่าร้อยละ 0.2 จากรายงานครั้งก่อนหน้า
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำฤดูกาลของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

--------------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999