บ้าน-คน‘อัจฉริยะ’ ตอบไลฟ์สไตล์ดิจิทัล

บ้าน-คน‘อัจฉริยะ’ ตอบไลฟ์สไตล์ดิจิทัล

ภายในปีหน้า “บ้านอัจฉริยะ” จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่พบเห็นทั่วไป ทั้งปลดล็อคประตูด้วยระบบจดจำใบหน้า สั่งเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงการพัฒนาวิศวกรที่พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ล้วนเป็นแนวโน้มที่แวดวงวิศวกรรมไทยกำลังเร่งมือพัฒนา

“โลกปัจจุบันหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต นอกจากประชาชนทั่วไปต้องปรับตัว วิศวกรก็เช่นกันเพราะความรู้ทางด้านวิศวกรรมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงต้องรู้ เข้าใจและพร้อมที่จะหยิบใช้ให้เกิดประโยชน์” ทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าว

งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 เป็นงานสัมมนาวิชาการและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์วิศวกรรม รวมทั้งเทรนด์ในอนาคต โดยมีไฮไลต์สำคัญคือ เทคโนโลยีบ้านปลอดภัยสไตล์อัจฉริยะ นวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานทางเลือก (EV Car) หุ่นยนต์เพื่อใช้ในการทดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พร้อมการปาฐากถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์ชาติขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมอัจฉริยะ” จากรัฐมนตรี 4 กระทรวง กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.2561 ณ อิมแพค ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี

สมาร์ทโฮม เรื่องใกล้ตัว

เทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะเป็น 1 ในไฮไลต์ของงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ภายใต้แนวคิด “วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต” ขานรับนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศไทยยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา ยกระดับสังคมสู่สมาร์ทไลฟ์ สมาร์ทเนชั่น อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นศูนย์กลางอัพเดทเทรนด์วิศวกรรม แลกเปลี่ยน ทบทวนและพัฒนามาตรฐานวิศวกรรม

วชิระชัย คูนำวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงาน Business Transformation และกรรมการผู้จัดการธุรกิจ Innovative Solution บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสมาร์ทโฮมหรือบ้านอัจฉริยะ หลายคนกลัวที่จะเปลี่ยนเพราะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่และราคาสูง แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมกลืนอยู่กับชีวิตเราโดยที่ไม่รู้ตัว ยกต้วอย่างที่เอสซีจีทำอยู่

เช่น Active AirFlow ระบบระบายความร้อนใต้โถงหลังคาด้วยพัดลมเล็กที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์และควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยลดความร้อนอบอ้าวภายในบ้าน, WellAir อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในบ้าน และล่าสุดคือ B Well ที่จะเชื่อมอุปกรณ์ตรวจวัดความดันกับแอพพลิเคชั่นเพื่อเก็บข้อมูลความดันทุกวัน ระบบยังสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่า ตรวจวัดทุกวันหรือไม่ ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และไม่ใช่เรื่องยาก 

นอกจากภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องปรับตัวแล้ว หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต้องต้องขยับเช่นกัน ศรัณพงศ์ อาชว์สุนทร ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับนโยบาย PEA 4.0 ในยุคแห่งนวัตกรรม กฟภ.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า PEA HiVE Platform ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะภายในบ้านที่ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ

“เราสามารถเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อควบคุมการทำงาน เช่น เชื่อมต่อระบบโซลาร์รูฟและแบตเตอรี กล้องวงจรปิด วิเคราะห์และเก็บข้อมูลการใช้พลังงานภายในบ้าน และยังเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดเพื่อเอื้อให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดพัฒนาระบบที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น ฟังก์ชั่นระบบล็อคอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์” ศรัณพงศ์ กล่าว