งานท้าทายสุดท้าย กฤษณา ไกรสินธุ์

งานท้าทายสุดท้าย  กฤษณา ไกรสินธุ์

งานยากๆ ที่ไม่มีใครทำ เภสัชกรยิปซีไม่ปฏิเสธ และนี่คือโครงการสุดท้ายในชีวิตเธอ

“ชีวิตที่เกิดมา ถ้าได้ช่วยคนสักคน ก็คุ้มค่าแล้วที่เกิดมา ตอนทำงานองค์กรเภสัชกรรมก็ได้ผลิตยา เมื่อทำมาพักหนึ่ง น้องๆ คนอื่นก็ทำได้ แล้วทำไมเราไม่ไปช่วยคนอื่นบ้าง”ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ หรือเภสัชกรยิปซี เล่า 

12 ปีืที่ร่อนเร่ทำงานในหลายประเทศของแอฟริกา สอนให้คนที่นั่นผลิตยาต้านเอดส์และยามาลาเรีย เธอบอกว่า เป็นการทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แม้ตอนนั้นคนจะมองว่า ทำไมต้องไปช่วยคนแอฟริกัน 

เธอจึงตั้งคำถามว่า แล้วพวกเขาไม่ใช่คนหรือ

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต ไม่ว่าขาวหรือดำ รวยหรือจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถามว่า ทำงานในแอฟริกาลำบากไหม บอกเลยว่า เกิดมา ไม่เคยลำบากแบบนี้เลย เป็นความลำบากกาย แต่ใจมีความสุข

เพราะเอดส์ไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุขอย่างเดียว ยังเป็นปัญหาสังคมด้วย เราชอบทำงานสังคม ตั้งใจว่าจะผลิตยาให้คนใช้ โดยไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คิดว่า ทำยาเหล่านี้แล้วจะโด่งดัง คิดแค่ว่า ถ้าผู้ป่วยได้ใช้ ก็บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว”

-1-

ตลอด 20 ปี เธอพัฒนายาให้มวลมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด และได้รับรางวัลมากมายจนนับไม่ถ้วน ล่าสุดเพิ่งตั้ง มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยมีทีมงานหลักสามคน คือเธอ และน้องๆ อีกสองคน ทำงานโดยไม่เรี่ยไรเงิน และหลายครั้งใช้เงินส่วนตัวทำงานให้สังคม ปัจจุบันยังคงเดินทางไปๆ มาๆ หลายประเทศในแอฟริกา เพื่อสอนให้คนที่นั่นผลิตยา รวมถึงงานล่าสุดที่ประเทศเปรู ใช้แนวคิดสวนสราญรมย์โมเดลเป็นแบบอย่าง

งานที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นโครงการล่าสุดที่เธอไปช่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยทำเป็นโครงการการฟื้นฟูสุขภาพและสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดด้วยสมุนไพรและพัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ และจะเป็นโครงการสุดท้ายในชีวิต เพราะตอนนี้ดร.กฤษณาอายุ 66 ปีแล้ว รวมถึงยังทำโครงการพัฒนาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและโรงงานสมุนไพรในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่ได้ใช้งบประมาณใคร มูลนิธิกฤษณาก็เงินของกฤษณา ไม่ต้องห่วงอะไรเลย เงินหมดก็หยุดทำ เราเป็นประธาน วางแผนเอง ปฏิบัติเอง ทำหลายอย่างในคนๆ เดียว ถ้าไม่มีเรา มูลนิธิก็ปิดได้เลย ไปทำงานที่ไหนก็สอนให้คนพึ่งตนเอง สอนให้คนตกปลา ไปสร้างโรงงานสมุนไพรสามจังหวัดภาคใต้สิบกว่าปี ตอนนี้พยายามพัฒนาให้คนไทยปลูกสมุนไพรให้มีคุณภาพ”

ผู้ป่วยยาเสพติดที่มาบำบัดในโรงพยาบาลสราญรมย์ เธอเรียกพวกเขาว่า นักเรียน ปกติจะเข้ามาบำบัดสี่เดือน โดยเน้นการบำบัดจิต ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และสร้างอาชีพปลูกสมุนไพรป้อนโรงงาน 

“ก็เอาสมุนไพรหลายตัวไปใช้กับผู้ติดยา อย่างเถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย ย่านางแดง กำจัดพิษ หรือรางจืด เอาโลหะออกจากร่างกาย ยาเป็นแค่สัญลักษณ์ให้เขารู้ว่า เราแคร์เขา จริงๆ แล้วอยู่ที่การเยียวยาจิตใจให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งยากมาก”

เมื่อคนเหล่านี้กลับไปอยู่ในชุมชน เป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะกลับไปเสพยาอีก โครงการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด จึงสำเร็จได้ยาก เธอ บอกว่า ถ้าบำบัดแค่ในโรงพยาบาล แล้วจบ ทำแบบนั้นได้ผลแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลงไปถึงชุมชนสร้างเครือข่ายมีโอกาสที่จะได้ผลเกิน 54 เปอร์เซ็นต์

“อย่างศูนย์ที่เปรูได้ผล 54 เปอร์เซ็นต์โดยใช้สมุนไพรอย่างเดียวบำบัด 9-12 เดือน แต่ที่นี่ใช้เวลาบำบัด 4 เดือน ปล่อยออกไปก็ติดยาอีก บำบัดแล้วก็ไม่มีประโยชน์ จึงต้องลงไปทำในชุมชนด้วย เพราะบางครั้งมีการฟอกตัว โดยผู้ค้ายาติดสินบนตำรวจ บอกว่าผ่านการบำบัดแล้ว แต่กลับมาขายยาอีก เป็นวังวนปัญหาใหญ่ของประเทศ

จริงๆ ก็ไม่อยากทำเรื่องนี้ แต่ไหนๆ ก็อายุมากแล้ว 66 แต่ดูเหมือน 86 คิดว่าเป็นโครงการสุดท้ายของชีวิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบอกว่า ถ้าไม่ยากก็ไม่ถึงมืออาจารย์ เป็นการบำบัดที่ใจ สมุนไพรที่ใช้เป็นแค่พิธีการ”

-2-

โครงการสุดท้ายในชีวิตที่ต้องทุ่มทั้งแรงงานและแรงใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยาเสพติดไม่กลับไปข้องแวะกับยาอีก เธ่อจึงต้องใช้เทคนิคที่หลากหลายและใช้ใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา

 “เราก็เคยไปดูงานที่วัดถ้ำกระบอก ที่นั่นบำบัดแค่ 15 วัน แต่เราสี่เดือนยังทำไม่ได้เลย พอทำแล้วถูกเชิญให้ไปช่วยคนเปรู คนประเทศนั้นจะเคี้ยวใบโคคาตลอดเวลา ไม่ทำงานอะไรเลย ก็เคยลองเคี้ยว ก็อร่อยดี ที่นั่นจะมีศูนย์แห่งหนึ่ง ไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันบำบัดผู้ติดยาเลย อย่างที่บอกยาไม่ได้เยียวยาอะไร อยู่ที่จิตใจ”

เธอ เล่าต่อว่า เมื่อสามสิบปีก่อน เจ้าหน้าที่จากเปรู ก็มาศึกษาดูงานที่วัดถ้ำกระบอก และคนไทยก็ไปดูงานที่เปรู เรียนวิธีการบำบัดของวัดถ้ำกระบอกนั่นแหละ

“จริงๆแล้ว ไทยมีของดีมากมาย แต่ละเลย ถ้าเอาแนวคิดวัดถ้ำกระบอกมาทำทั่วประเทศก็น่าจะทำได้ ไม่ได้เสียเงินเยอะ ที่นั่นจะมีพิธีกรรมช่วยในเรื่องจิตใจ เพราะคนพวกนี้ จำในสิ่งที่ไม่ควรจำ เรื่องยาเสพติด มักจะกลับไปใช้อีก ก็ทำให้พวกเขามีอาชีพ ปลูกสมุนไพร รู้สึกมีคุณค่ามากกว่าปลูกผักบุ้งและคะน้า”

กระบวนการที่ดร.กฤษณาเล่า จึงไม่ใช่แค่ให้ยาสมุนไพร หรือลงแปลงการเกษตรอย่างเดียว เธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนเหล่านั้นเห็นว่า พวกเขามีคุณค่าในชีวิตไม่ต่างจากเธอและหลายคนที่อยู่บนโลกใบนี้

 “ปรับจิตใจคนไม่ใช่ง่ายนะ ตัวเราเองยังปรับไม่ค่อยได้เลย”

เมื่อถามว่า สวนสราญรมย์โมเดล ประสบความสำเร็จหรือยัง เธอบอกว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ ต้องติดตามว่า คนพวกนี้ออกไปแล้ว ยังใช้ยาเสพติดจำนวนเท่าไหร่ ต้องไปตามดูในชุมชน ก็ต้องสร้างเครือข่าย

“เวลาทำอะไร อย่ายึดติดว่าต้องทำอย่างนี้ตลอด ต้องเปลี่ยนแผนทุกวัน เนื่องจากมูลนิธิเรามีแค่สามคน เราก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยใช้หลักคุณธรรม สมุนไพร สามารถให้ชาวบ้านปลูกได้ เพิ่มมูลค่าได้ เพราะพวกเขาสังเคราะห์สมุนไพรเองไม่ได้ ในสุราษฎร์ธานีมีที่ดินเยอะแยะ ปลูกแบบอินทรีย์ได้ เราต้องไปดูพื้นที่ปลูกด้วย ไม่ใช่ว่าเขาหัวโล้นจะปลูกสมุนไพรได้"

สวนสราญรมย์โมเดลที่เธอและทีมงานทุ่มแรงกายและใจ รวมถึงองค์ความรู้ เธอบอกว่า เป็นโมเดลที่นำไปใช้ที่เปรู จะขยายเป็นโมเดลบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดทั่วประเทศหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องห่วงอนาคตข้างหน้า ควรทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ต้องคิดถึงพรุ่งนี้ 

"แพทย์แผนทางเลือก ไม่ว่าแผนอินเดีย แผนไทย ก็จะทำตามความเชื่อ ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ส่วนแพทย์แผนปัจจุบัน จะเน้นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์รุนแรง และมีผลข้างเคียง แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ถ้าเอาทั้งสองแผนมารวมกัน เลือกเฉพาะส่วนดีๆ ก็น่าจะใช้ร่วมกันได้ เพราะร่างกายเราเป็นธรรมชาติ แต่เรากลับแยกส่วนว่าต้องใช้แผนปัจจุบัน ซึ่งมีผลข้างเคียง ในฐานะผู้ผลิตยา อย่างยาเคมีจำพวกพาราเซตามอล ก็เอาผงยามาตอกเป็นเม็ด แต่ถ้าทำฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่ได้จากกิ่งและใบ มีสารเคมีอยู่ 120 ตัว ถ้าผลิตไม่ดีแทนที่โรคจะหาย ก็อาจนำโรคอื่นเข้าไป คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ คิดว่า โรคที่รักษาด้วยธรรมชาติจะหาย แต่ถ้าใช้ โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐาน ก็มีปัญหา”

.........................

((((อารมณ์ดี แล้วมีความสุข))))

      ในการอบรม“ธรรมะ บำบัดความป่วยได้จริงหรือ?” ครั้งที่ 34 ดร.กฤษณา เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ยารักษากาย ธรรมะรักษาใจ” ที่สวนโมกข์กรุงเทพ  

เธอบอกว่า ปกติจะสวดมนต์ทุกวันๆ ละสองชั่วโมง เพื่อทำให้กายและใจสมดุล มีพลังทำงาน 

“คนเราต้องอารมณ์ดี ก็จะมีความสุข อีกอย่างต้องรู้จักเดินสายกลาง ไม่โลภ ทำแบบนั้นก็จะมีสารบางอย่างหลั่งออกมาที่ปลายประสาท ทำให้ไม่แก่ ไม่เป็นมะเร็ง เซลไม่เสื่อม  และเราควรทำวันนี้ให้เหมือนกับวันสุดท้ายของชีวิต เพราะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัวแล้ว”

ทุกครั้งที่มีคนถามเรื่องชีวิต เธอ บอกเสมอว่า ไม่ยึดติดสิ่งใด

“เราเป็นคนบ้านนอก แต่ไม่รู้สึกขาดแคลน เพราะครอบครัวมีความรักที่เต็มเปี่ยม มาเรียนกรุงเทพฯตั้งแต่เด็กๆ ที่โรงเรียนราชินี ที่นั่นผู้ดีเขาเรียนกัน แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าด้อย เราภูมิใจในตัวเรา มีแค่ไหนก็แค่นั้น ใครรับเราไม่ได้ไม่เป็นไร ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา ปัญหาอยู่ที่คนมอง เขาจะมองยังไง ก็เรื่องของเขา เขาก็ทุกข์เอง มีคนมองว่าทำไมเราอ้วนจัง นั่นมันเรื่องของเขา เราไม่ได้คิดอะไร ชีวิตก็จะมีความสุขตลอดเวลา เพราะเราละไปแล้ว

และไม่ได้คิดว่าเรียนจบสูงๆ ปริญญาจะมีค่า คนเราจะมีค่าอยู่ที่การกระทำ แต่ก็ต้องหาปริญญามาเป็นตั๋วผ่านทาง เพราะบ้านเรายอมรับเรื่องนี้ เรียนโน้นเรียนนี่ก็ได้ปริญญามา ก็แค่นั้นเอง ไม่เคยไปรับปริญญาเลย ไม่ได้มีความหมายอะไร"

      สำหรับเธอ สิ่งที่ทำได้คือ การช่วยเหลือ เพราะเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา

"ทั้งๆ ที่ผิวดำสนิท (คนแอฟริกัน) และมีกลิ่นด้วย ก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน เราก็สอนให้เขาผลิตยาเพื่อช่วยคนของเขา 12 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2545 ทำงาน 17 ประเทศในแอฟริกา ซึ่งติดอันดับประเทศยากจนที่สุดในโลก งานอะไรก็ตาม ทำแล้วมีความสุข ก็เหมือนไม่ได้ทำงาน

และก่อนหน้านี้เราไม่ได้ตั้งเป้าว่า จะช่วยคนไทยได้กี่คน แต่ก็ช่วยได้ทั้งประเทศ  ไม่มีปัญหายาต้านเอดส์แพงแล้ว แต่ในแอฟริกา คนยากจนมาก เสียชีวิตด้วยเอดส์ปีละหนึ่งล้านคน จริงๆ แล้ว เสียชีิวิตด้วยมาลาเรียเยอะกว่า ปีละสองล้านคน ที่คนไม่พูดถึงมาลาเรีย เพราะเป็นเรื่องของคนจน"

แม้ในงานที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ  พิธีกรจะขอแบ่งเงินบริจาคออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้มูลนิธิกฤษณา แต่ดร.กฤษณา ปฏิเสธ โดยบอกว่า เงินเราพอมี (เงินส่วนตัว) ก็ใช้ไป เราก็พอเพียง ถ้ามูลนิธิขาดแคลน ต้องใช้จริงๆ ก็ตัดที่ดินเกาะสมุยของครอบครัวขายไป ก็เท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า เดินทางเยอะ แล้วมีเวลาอยู่บ้านไหม 

เธอบอกว่า บ้านคือที่ๆ เรามีความสุข เรามีบ้านเยอะ ในอาฟริกาก็มี บ้านจริงๆ อยู่ที่เกาะสมุย และกรุงเทพฯ อาจจะสร้างที่ศรีสะเกษอีกแห่ง 

“พอเราตายไปก็ให้คนอื่นมาอยู่  เราไม่มีบ้านหลังที่รักที่สุด รักไปทำไม ถ้าเรารัก เราก็ผูกติดกับสิ่งที่เรารักใช่ไหม เราไม่ผูกติดกับมัน เราไม่มีออฟฟิศ เพราะออฟฟิศเคลื่อนที่ไปตามตัวเรา เราไปตรงไหน ตรงนั้นก็คือที่ทำงาน”

ส่วนความหวังในชีวิต เธอตอบชัดถ้อยชัดคำว่า

“อยากทำให้คนมีความสุข แล้วคุณมีความสุขหรือยัง”