ผอ.สบอ.3 นำทีมตรวจสอบรีสอร์ทดัง รุกเขตอุทยานฯลำคลองงู

ผอ.สบอ.3 นำทีมตรวจสอบรีสอร์ทดัง รุกเขตอุทยานฯลำคลองงู

ผอ.สบอ.3 นำทีมตรวจสอบรีสอร์ทดัง รุกเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู หลังเคยถูกดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปี 56 พบจากปลูกพืชเกษตรกลายเป็นรีสอร์ท แถมฝ่าฝืน ม.22

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) นายกฤติน หลิมตระกูล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ.3 (บ้านโป่ง) นายพงศ์สรรค์ ดิษฐานุพงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู และนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

นายชาติชาย ศรีแผ้ว หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1(ภาคกลาง) เจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ เจ้าหน้าตำรวจ บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ สนธิกำลังเข้าตรวจสอบ “บ้านผาสวรรค์รีสอร์ท” บริเวณป่าบ้านห้วยสมจิตร หมู่ 5 ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู และในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ แปลงที่หนึ่ง

จากการตรวจสอบพบการกระทำผิด 1 รายกล่าวโทษ เจ้าของรีสอร์ท 2 ราย คือ นายไพโรจน์ สุขจั่น และ น.ต.บุญเลิศ สุขจั่น ตรวจยึดพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 34-3-39 ไร่ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรทั้งหมด 77 รายการ จากเดิม 58 รายการ เพิ่มขึ้นมาอีก 19 รายการ และปลูกพืชผลอาสินเต็มพื้นที่ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง มะยงชิด เป็นต้น

นายดำรัส กล่าวว่า เดิมพื้นที่นี้ถูกดำเนินคดี เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2556 โดยขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายทัดตะวัน บุญสน และนางสาวลลิตา อุ่นทิม ในข้อหาบุกรุกป่า แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งสองคน เหตุขาดเจตนาและพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

ส่วนข้อหาทำไม้หวงห้ามและข้อหามีและใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ศาลฏีกาพิพากษาจำคุกนายทัดตะวัน 18 เดือน ของกลางริบ และได้ดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสิน และมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ข้อเท็จจริง จึงปรากฏทั้งในสำนวนการสอบสวนของอัยการ และสำนวนคดีของทั้งสองศาล ว่านายไพโรจน์ และ น.ต.บุญเลิศ เป็นเจ้าของผาสวรรค์รีสอร์ท ทั้งสองอ้างว่าได้รับผ่อนผัน จากการเป็นผู้ได้รับการสำรวจถือครองที่ดิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 แต่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ทั้งสองราย ครอบครองที่ดินเมื่อปี 2539 หลังการประกาศป่าสงวนฯ โดยตามแบบ ทป.4 ระบุการได้มาโดย "จับจอง" และ "ซื้อขาย" ในขณะที่ในสำนวนระบุว่า "รับการยกให้จากผู้ครอบครองคนเดิม และมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมออกไปอีก รวมทั้งมีการเปลี่ยนสภาพการทำประโยชน์จากเดิมที่ทำการเกษตรมาเป็นรีสอร์ท แม้ภายหลังได้ออกคำสั่งให้ทำการรื้อถอน แต่ทั้งสองก็ยังฝ่าฝืนและก่อสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมอีกนับสิบรายการ ดังนั้น นอกจากทั้งสองรายจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 เนื่องจากผิดเงื่อนไข แล้ว ยังจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกด้วย

ภาพ : สบอ.3 (บ้านโป่ง)