We chef ครัวในบ้าน เชื่อม “คนทำ” กับ “คนกิน”

We chef ครัวในบ้าน เชื่อม “คนทำ” กับ “คนกิน”

ไม่ได้เป็นเชฟมีประสบการณ์หรือจบจากสถาบันอาหารที่มีชื่อเสียง แต่ “วินิจ ลิ่มเจริญ” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีเชฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ชายผู้รักการทำอาหารเป็นงานอดิเรก

พร้อมกับสวมหมวกหลายใบ ทำธุรกิจซ่อมและทำความสะอาดกระเป๋าแบรนด์เนมและกระเป๋าเดิมทาง ไนน์แบ็คส์ (Ninebags) เป็นนักเขียนหนังสือ และเป็นอาจารย์ที่สอนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ศิลปากร

นี่จึงเป็นที่มาของการทดลองนำไอเดียจากแพสชั่น(หลงใหล) ส่วนตัว ที่รักและมุ่งมั่นทำอาหารเป็นงานอดิเรกมาพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพ ในช่วง 1ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเปิดเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น “วีเชฟ (We Chef)” แพลตฟอร์มที่เชื่อมคนรักในการทำอาหาร มาเจอคนอยากทานอาหารพิเศษของคนทำครัวในบ้านของตัวเอง บนเมนูเฉพาะที่เป็นลายเซ็นต์ของเชฟ ที่มีสูตรลับประจำกายของแต่ละคน

บนคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เปลี่ยนครัวที่บ้านให้เป็นงาน เปลี่ยนฝีมือทำอาหารให้เป็นเงิน”

คนเชื่อว่าคนที่มีจริตคล้ายกันกับผมมีอีกเยอะ คนที่ชอบทำอาหารในเวลาว่าง และมีความสุขที่มีคนชมว่าอร่อย จึงพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มคนชอบทำอาหารที่แปลงมาเป็นอาชีพทำเงินได้ แพลตฟอร์มเชื่อมคนทำอาหารและคนทานอาหารมาเจอกัน เขาเล่าถึงเป้าหมายของแพลตฟอร์ม

กลุ่มเป้าหมายมี 3 กลุ่ม คือ 1.เชฟมืออาชีพที่จบจากสถาบันการทำอาหารมีใบประกาศนียบัตร และมีประสบการณ์จากร้านอาหาร 2.ผู้ที่มีใจรักทำอาหาร ผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน คนเหล่านี้มีสูตรเด็ดลับเฉพาะและเทคนิคเฉพาะตัวแบบเป็นต้นตำรับที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น 3.กลุ่มแม่บ้านต่างชาติ ที่ย้ายตามสามีมาทำงาน ในเมืองไทย

คนที่จะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มวีเชฟทั้ง 3 กลุ่ม มีสูตรลับทำอาหารที่มีฝีมือที่มีเมนูแปลกๆ ออริจินัล ที่หาทานไม่ได้ในร้านอาหารทั่วไป และเป็นสิ่งที่มีคุณภาพเพราะทำให้คนในบ้าน และตัวเองกิน เหมือนกันกับเสิร์ฟให้กับลูกค้า

“อาหารในวีเชฟจึงมีความพิเศษตรงที่มีลายเซ็นต์ (Signature)สืบทอดมาในตระกูล มีคนที่มีฝีมือทำอาหารเพียงแค่เมนูเดียว แต่อร่อยและพิเศษ และเป็นสูตรลับก็เข้ามาในแพลตฟอร์มนี้ได้ ซึ่งมีคนที่ชอบเสาะแสวงหาและอยากทาน”

เขาเล่าถึงการเชื่อมคนรักการทำอาหารที่อยากแบ่งปันสูตรของตัวเองให้คนอื่นได้ชิม ชมก็เกิดความภูมิใจ แถมยังสร้างรายได้ เมนูง่ายๆ ที่บ้านก็กลายเป็นเมนูทำเงิน สร้างงานให้คนที่ใจรักในการทำอาหาร เพราะเขาเชื่อว่าคนทำอาหารทุกคนนอก มีใจรักที่อยากทำของดี มีคุณภาพให้คนอื่นได้ทาน ต่างกับร้านอาหารที่มีลูกจ้างทำอาหาร

กระบวนการสั่งซื้อก็ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากเชฟแต่ละคนคิดว่าอยากจะทำเมนูอะไร ก็ไปโพสต์รายการอาหารไว้ในแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ แบบเป็นรับออเดอร์ล่วงหน้า(พรีออเดอร์) ประจำสัปดาห์ เช่น มัสมั่นไก่ หากตั้งเป้าหมายไว้ 5 ถุงแต่มีคนสั่งแค่ 3 ถุง ตอนไปจ่ายตตลาดก็จัดสรรปริมาณได้ตามปริมาณคนสั่ง

เป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีความเสี่ยงในการสต็อกสินค้าวัตถุดิบ เพราะทำตามออเดอร์ และทำกินเองอยู่แล้ว หากมีออเดอร์เข้ามาก็ทำหม้อใหญ่ขึ้น เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะมีรถมอเตอร์ไซต์ไปรับ โดยลูกค้าเป็นคนจ่ายเงินค่าส่งของ ที่อย่างไรก็ถือว่าต้องถูกกว่าร้านอาหาร เพราะไม่มีต้นทุนการบริหารจัดการ จ้างลูกจ้าง ค่าเช่าที่ คุณค่าอาหารก็จะไม่ถูกตัดทอนไป ส่วนวีเชฟหัก 15%จากเชฟในแต่ละออเดอร์” เขาเล่าถึงขั้นตอนปริมาณที่เชฟจัดการได้

สำหรับวีเชฟนี้เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนมี.ค.61 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังต้องปรับปรุงระบบในแอพพลิเคชัน จึงเหลือแต่เว็บไซต์ และมีทีมงานทำงานเป็นหลังบ้านในการสกรีนเชฟรุ่นแรกๆ ก่อน ซึ่งมีเชฟสมัครเข้ามา 500 คน มียอดใช้งานแอคทีฟจริงๆ 50 คน

ในเริ่มต้นการเปิดเป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าตามบ้าน (BtoC) แต่พอทำไปมา มีลูกค้าองค์กร ที่สั่งล็อตใหญ่ (BtoB) มากกว่า โดยเซ็ตที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ เซ็กล่องข้าวอาหารกลางวันส่งตามสำนักงาน งานจัดเลี้ยง ประชุม และสัมมนาต่างๆ ซึ่งรายได้ปัจจุบันอยู่ที่ 8หมื่น -100,000 บาทต่อเดือน หรือ 3,000 ออเดอร์ต่อเดือน

เริ่มต้นเปิดแนะนำตัวในช่วงแรกๆ จำเป็นต้องมีการสกรีนมาตรฐาน โดยกลุ่มเชฟนั้นมีประสบการณ์และจบสถาบันทำอาหารแล้วก็ยอมรับ แต่สำหรับกลุ่มที่ทำอาหารด้วยใจรัก อยู่บ้าน ต้องเข้าอบรมการทำอาหารให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับออเดอร์ 100กล่องขึ้นไปโดยที่รสชาติเหมือนกันทั้งหมด

“ช่วงแรกๆ ต้องการให้คนรู้จักแบรนด์วีเชฟจึงต้องคัดกรองมาตรฐาน ต่อไปจะขยายไปสู่กลุ่มคนมีฝีมือร้านอาหาร ที่รักการทำอาหารให้มากขึ้น โดยพัฒนาระบบที่มีการทดสอบฝีมือ ไม่ใช่เขาบอกว่าเขาอร่อย แต่ไม่ตรงกับความต้องการลูกค้า”

เขาคาดว่าหลังจากปรับปรุงระบบให้เรียบร้อย จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในไตรมาสแรกของปี 2562 เริ่มจากมีแอพพลิเคชั่นที่สมบูรณ์ และมีหน้าร้านที่เป็นจุดรับส่งสินค้าในสถานีบริการน้ำมัน พีที (PT) ทั่วประเทศ รวมถึงรุกเข้าไปบริการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ(EEC) ใน 3 จังหวัด ที่มีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย (Expat) จำนวนมาก และอนาคตเส้นทางวีเชฟต่อไปจะสยายปีกไปรุกอาเซียน และทั่วโลก

“เราเป็นประเทศที่ที่ถูกมองว่าครัวของโลก เมื่อคิดทำสตาร์ทอัพจึงต้องทำเรื่องอาหารจึงจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับต่างประเทศ เพราะอาหารไทยเด่นที่ติด 1 ใน5 ความนิยมระดับโลก”

เขายอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นไม่ใช่ง่าย มีหลายอย่างต้องปรับปรุงโดยเฉพาะการที่เขาต้องเทสต์ความอร่อยของเชฟแต่ละคนด้วยตัวเขาเอง จึงเป็นอุปสรรคในการขยายตัวได้จำกัด ในอนาคตเขาจะสร้างเครื่องมือมาตรฐานหุ่นยนต์ที่เป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นักชิมและประเมินมาตรฐานฝีมือเชพเพื่อรวบรวมเชพเลื่องชื่อเข้ามาในแพลตฟอร์มได้รวดเร็วและมากขึ้น

“โลกวันนี้คนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลก กำลังเสียโอกาส เทคโนโลยีดิจิทัลใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่ดีไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้เค้าจะตามไม่ทันก็ตาม คนรุ่นเก่าเก่งตรงที่มีความรอบครอบ หากลุกขึ้นสู้ข้ามไปต่างประเทศด้วยกัน”เขาให้กำลังใจคนที่อยู่บ้านที่มองตัวเองล้าหลังเรื่องเทคโนโลยี

ที่ผ่านมาเขาทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในหลากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และโครงการTrue Incube และโครงการ Allianz Ayudhaya Activator เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้แพสชั่นในหัวของเขากลายเป็นภาพแพลตฟอร์มที่ทำงานได้จริง

-------------------------------

แพลตฟอร์มระดมเชฟมือฉมัง

-ดึงเชฟระดับฝีมือสร้างชื่อเสียงแนะนำตลาด

-หาพันธมิตรเอกชน

-ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ

-สร้างมาตรฐาน