ย้อนอดีต 'นายกฯ' จากรัฐประหาร สืบทอดอำนาจฉากจบมัก 'ไม่สวย'

ย้อนอดีต 'นายกฯ' จากรัฐประหาร สืบทอดอำนาจฉากจบมัก 'ไม่สวย'

เรียนรู้จากอดีต "นายกฯ" จากรัฐประหาร 3จอมพล-1พล.อ. สืบทอดอำนาจฉากจบมัก "ไม่สวย"

พลันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศจุดยืนสนใจงานการเมือง โดยให้เหตุผลว่าต้องการสานต่องานที่ทำมาให้แล้วเสร็จ ภาพ “อดีตนายกฯ” ที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารย้อนกลับมาให้เห็น

โดย “ผู้นำจากรัฐประหาร” ล้วนแล้วแต่มีจุดจบไม่เหมือนกัน บางคนแฮปปี้เป็นที่ยอมรับจากประชาชน แต่หลายคนหลงอำนาจจนเกือบไม่มีแผ่นดินอยู่ ต้องออกนอกประเทศ จบชีวิตในต่างแดน

เริ่มกันที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ถือคติประจำใจว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชาย ต้องไว้ชื่อ” เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2476 การงานไม่ราบรื่น ประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการสงคราม โดยขณะนั้นกำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

ทั้งนี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 3 สมัย ก่อนเว้นว่างไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง และกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 2 สมัย รวมแล้วเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 5 สมัย ก่อนลงจากตำแหน่งได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2481 ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พร้อมประกาศยุติบทบาททางการเมือง ถือว่าลงจากหลังเสือได้สง่างาม

ขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่งเก้าอี้นายกฯ 8 สมัย รวม 14 ปี 11 เดือน ทำการรัฐประหารเงียบเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2491 โดยกลุ่มนายทหารที่สนับสนุน เจรจาให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และให้จอมพล ป.ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ทำรัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2494 โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2492 ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2475

สุดท้าย จอมพล ป. ต้องมาพ่ายแพ้ให้กับคนที่ตัวเองไว้ใจมากที่สุด เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนที่ จอมพล ป. แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก คุมกำลังทั้งหมด เข้ายึดอำนาจจอมพล ป. ทำให้ต้องลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น และจบชีวิตลงในต่างแดน

ส่วน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลังรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. ยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะโดนกระแสต่อต้าน ส่งไม้ต่อให้ จอมพลถนอม กิตติขจร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะจับมือกันรัฐประหารตัวเอง ส่งจอมพลสฤษดิ์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 สมัย รวม 4 ปี ก่อนถึงอสัญกรรมในวัยเพียง 55 ปี ด้วยโรคไตพิการเรื้อรังและอีกหลายโรค โดยเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียวที่ถึงแก่อสัญกรรม ระหว่างที่ดำรงคาตำแหน่งอยู่

ด้าน จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ รวม 4 สมัย รวมเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน เคยก่อรัฐประหารรัฐบาลตัวเองเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 เพราะไม่อาจควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรได้ ทั้งนี้ในการรัฐประหารรอบหลัง จอมพลถนอมอยู่ในตำแหน่งนายกฯ อีก 1 สมัย (ระหว่างปี 2514-2515) ก่อนต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยพลังกดดันทางการเมืองในเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ต.ค.2516

ต่อด้วย พล.อ.สุจินดา คราประยูร นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร สนับสนุน นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าตัวติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด

ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหันมาสนับสนุน พล.อ.สุจินดา ทำให้ต้องประกาศต่อสาธารณชนก่อนรับตำแหน่งว่า “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.สุจินดา ประกาศมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเป็นชนวนนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อวันที่ 17-20 พ.ค.2535 และ พล.อ.สุจินดา ต้องลาออกจากตำแหน่ง

ขณะที่การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจจากรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่ พล.อ.สนธิ จะเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ภายหลังเกษียณอายุราชการ โดยไม่มีแรงต่อต้านแต่อย่างใด จากนั้นได้ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดินในการเลือกตั้งปี 2550 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และปรากฏตัวในสนามเลือกตั้ง 2554 ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ซึ่งได้เป็นเพียงส.ส. ไม่มีตำแหน่งด้านบริหาร

ทั้งหมดคือบทเรียนจาก “นายทหารรุ่นพี่” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ศึกษากลวิธีจนนำมาแก้ทางได้อย่างดี นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ภายหลังรัฐประหารมา 4 ปีกว่า โดยไร้แรงต่อต้านจากประชาชน ถึงแม้จะมีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว แต่สามารถบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบไม่ให้ลุกลามได้

ว่ากันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และทีมยุทธศาสตร์ ออกแบบรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ ภายหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรูปแบบการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เปิดกว้างให้พิจารณาคนนอกได้ หากการเมืองถึงทางตัน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดว่าสนใจงานการเมือง เมื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกจัดตั้งเอาไว้รองรับ เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ทุกองคาพยพส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเหมือนเดิม เมื่ออำนาจพิเศษถูกลดทอนลง ที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร ที่ต้องการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง มักจะจบ “ไม่สวย”

รอดูชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ จะซ้ำรอย “นายทหารรุ่นพี่” หรือไม่