ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นำร่องเปิดแผนกคดีพาณิชย์-เศรษฐกิจ

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้  นำร่องเปิดแผนกคดีพาณิชย์-เศรษฐกิจ

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นำร่องจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ ในศาลชั้นต้นแห่งแรก ตั้งเป้าพิจารณาคดีให้เสร็จใน 1 ปี พร้อมพัฒนาใช้ IT บริหารคดีผ่านจอภาพยุคดิจิตอล

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.61 ที่ชั้น 10 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 เมื่อเวลา 11.00 น. นายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจแห่งแรกในศาลชั้นต้นซึ่งนำร่องในศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นที่แรก พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ การพัฒนางานในยุคดิจิทัลของศาลยุติธรรมและศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

โดยนายโอภาส ได้กล่าวถึงการพัฒนางานในยุคดิจิทัลว่า เนื่องจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ถือเป็นย่านจราจรติดขัด ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงจัดให้สามารถยื่นขอตั้งผู้จัดการมรดกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ได้ ชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคาร และดำเนินการไต่สวนคำร้องผ่านวิดีโอคอล (Video Call) ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล ส่วนคำร้องและหลักฐานต้องสแกนเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนถึงวันนัดไต่สวนด้วย เพื่อป้องกันการโต้แย้งภายหลัง ซึ่งการไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวก็ทำคดีมรดกให้เสร็จรวดเร็ว สำหรับการจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์ฯ เป็นไปตามนโยบายของนายสราวุธ เนื่องจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคดีประเภทนี้สูง โดยจะใช้ระบบไต่สวน สืบพยานผ่านจอภาพวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ได้ ศาลวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงได้ทันที แต่ละคดีต้องเสร็จสิ้นไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน จัดตั้งแผนกที่ศาลนี้นำร่องก่อนศาลอื่นในอนาคต เพื่ออำนวยความยุติธรรมและสะดวกรวดเร็ว

ขณะที่ นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีสอดคล้องนโยบายพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลก การดำเนินงานด้านไอทีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีความก้าวหน้าอย่างสูง พัฒนาไปไกลถึงขั้นเบิกความผ่าน VDO Call ได้แล้ว ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่คนซึ่งคิดนวัตกรรม ที่สำคัญคือความยั่งยืนและจำนวน ที่ผ่านมามีประธานศาลฎีกาจากประเทศเมียนมาร์และประเทศต่างๆ เข้าพบเยี่ยมชมก็ชื่นชมมาก สามารถบริการจัดการได้แม้มีคดีเกือบ 2 ล้านคดีต่อปี ระยะยาวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ส่วนเรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำไล EM ประกันตัว ครั้งแรกนำร่องใน 15 ศาล แต่ผ่านไป 1 เดือน ตนก็ให้ใช้ได้กับศาลทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลังจากที่เราต้องเช่าเครื่องมาใช้ถึง 80 ล้านบาท ต้องใช้ให้คุ้มค่างบประมาณเต็มประสิทธิภาพ โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้มากที่สุด ซึ่งการทำงานต้องเชื่อมโยงหน่วยงานอื่น อย่างกรมคุมประพฤติก็ได้นำกำไล EM ไปติดให้วัยรุ่นซิ่งรถ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการสำนักงานศาลฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดการใช้กระดาษ ส่งข่าวสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละศาลจะนำไปแชร์ยังศาลอื่น มีห้องแชทไลน์ COJ Alerts สำหรับการติดสื่อสารภายในองค์กรศาลทั่วประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่ปกติอันเกิดจากภัยธรรมชาติ, การกระทำอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล, การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญหรือเป็นที่สนใจของประชาชน เป็นต้น โดยให้ผู้อำนวยการหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการแจ้งเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดรวดเร็วทั้งการส่งข้อมูลและภาพเพื่อทราบเรื่องทันเหตุการณ์ไม่ล่าช้า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า

ขณะที่การเปิดแผนกคดีพาณิชย์ฯ ในศาลแพ่งกรุงเทพใต้นั้น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ให้โอกาส นายโอภาสเป็นอธิบดีด้วยประสิทธิภาพการบริหารงานของท่านซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานไม่ใช่อธิบดีออกไปแล้วจบระบบต้องอยู่ยั่งยืนให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ส่วนตนนั้นถ้าเห็นว่าโครงการไหนที่ล้มเหลวจะให้ยกเลิกเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่น สำหรับแผนกคดีพาณิชย์ฯ ต้องทำ เพราะมีการแข่งขันข้ามพรมแดน นักลงทุนต่างชาติเข้ามา ต่อไปคนจะติดต่อศาลน้อยลง เหมือนไปธนาคารน้อยลง เพราะทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ การเปิดแผนกนี้ใช้งบเพียง 400,000 บาทเศษ ไม่มากเพราะเน้นบริหารจัดการ โดยปัจจัยที่ทำให้ความยุติธรรมรวดเร็วจะเป็นการสะท้อนให้ต่างชาติเห็นในบริบทโลกไร้พรมแดน เพื่อผลตัดสินใจลงทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตก็จะขยายการเปิดแผนกนี้ทุกศาลทั่วประเทศ

นายสราวุธ กล่าวช่วงท้ายว่า การใช้เทคโนโลยีอาจทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องกระบวนการตรวจสอบว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ซึ่งการสร้างระบบเข้าสู่ความเป็น Smart Court นั้นมีระบบตรวจสอบอยู่แล้วไม่ต้องห่วง โดยขณะนี้งบที่ศาลได้มา 20,000 ล้านบาท ก็จะนำมาพัฒนาระบบไอที สร้าง Big Data ใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกคนไม่ต้องเดินทางมาศาลหลายครั้ง เพราะเทคโนโลยีอย่างการพิจารณาผ่านจอภาพจะช่วยร่นระยะทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางมาศาล ส่วนคนที่จะอยู่ในระบบก็ไม่ต้องมีจำนวนมาก และระบบเองก็ตรวจสอบความถูกต้องได้ ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ก็มีมติให้ประชุมผ่านจอภาพได้ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพงาน การทำงานของเรามีประโยชน์ต่อประชาชน โลกบังคับให้เราต้องทำแล้ว เราทำเองดีกว่าถูกบังคับ เราจะริเริ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งฝ่ายบริหารบ้านเมืองก็ชื่นชมการบริหารงานของเรา โดยเป้าหมายอนาคตคือความล่าช้าจะไม่เกิด ซึ่งเราต้องอาศัยองคาพยพทุกภาคส่วนขับเคลื่อนต่อไป ภายหลังการปาฐกถาเสร็จสิ้นแล้ว นายโอภาส อธ.ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และนายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ทำพิธีเปิดแผนกคดีพาณิชย์ฯ อย่างเป็นทางการที่ชั้น 8 อาคารศาลแพ่งกรุงเทพใต้ด้วย โดยในการนี้ คณะผู้บริหารศาล ยังได้นำผู้ร่วมงานและสื่อมวลชน เข้าชมการให้บริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแบบ e-form และ e-filling ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน พ.ค.61 เป็นต้นมา โดยผู้พิพากษาได้สาธิตการไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้วิดีโอคอล (Video Call) ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งจะมีผู้พิพากษาทำการไต่สวนผู้ร้องผ่านจอภาพที่วิดีโอคอลเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ นายสุริยัณห์ หงส์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เพิ่มเติมถึงจุดประสงค์การเปิดแผนกคดีพาณิชย์ฯ แห่งแรกในศาลแพ่งกรุงเทพใต้ด้วยว่า ก็เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสภาพและลักษณะของคดีด้านการค้าการพาณิชย์ที่ต้องการความคล่องตัวและรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และมีกระบวนการบริหารจัดการสำนวนคดีไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งการจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์ฯ จะทำให้คดีพาณิชย์ที่อยู่ในเขตอำนาจศาล (เขตสัมพันธวงศ์ , เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย , เขตปทุมวัน , เขตบางรัก , เขตสาทร , เขตบางคอแหลม , เขตยานนาวา , เขตคลองเตย , เขตวัฒนา) ได้รับการพิจารณาด้วยความรวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบธุรกิจ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล

สำหรับประเภทคดีที่จัดอยู่ในแผนกคดีพาณิชย์ฯ ได้แก่ คดีเช่าซื้อ, คดีบัญชีเดินสะพัด, คดีประกันภัย โดยคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นบริษัทประกันภัย, คดีหุ้นส่วนและบริษัท อาทิ การซื้อขายหุ้น การขอเพิกถอนมติที่ประชุม การขอเลิกบริษัท การขอตั้งผู้ชำระบุญชี การขอให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทคืนสู่ทะเบียนฯ, คดีสาขาที่เกี่ยวพันกับคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ และคดีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้กำหนด

โดย โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงการให้บริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแบบ e-form และ e-filing ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ด้วยว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการเดือน พ.ค.เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 75 เรื่อง และขณะนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้เพิ่มช่องทางเลือกให้สามารถขอไต่สวนผ่าน VDO Call ได้ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี เพราะผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องผ่านเว็บไซต์ของศาล ชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร เบิกความต่อศาลผ่านวิดีโอคอลทางโทรศัพท์มือถือของตนเอง และรอรับเอกสารคำสั่งทางไปรษณีย์ที่จะส่งถึงบ้าน นับเป็นบริการดีๆ ของศาลยุติธรรมที่มอบให้ประชาชนในยุค 4.0