ยโสธรเฮ! คว้ารางวัลเมืองน่าอยู่ 2561

ยโสธรเฮ! คว้ารางวัลเมืองน่าอยู่ 2561

เมืองยโสธร คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ One Planet City Challenge (OPCC) ประจำปี 2561 จัดโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) คณะกรรมการเผย

เทศบาลเมืองยโสธรโดดเด่นจากวิธีการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นเลิศ พร้อมมุ่งมั่นก้าวสู่เมืองที่มีการเดินทางสัญจรอย่างยั่งยืน รวมถึงจัดการระบบการคมนาคมภายในเมืองให้สะดวกยิ่งขึ้น

นายกอร์ดอน คองดอน – ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นสักขีพยานในพิธีมอบรางวัลชนะเลิศ ในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน ประจำปี 2561 โดยในปีนี้ เมืองยโสธรซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขัน 132 เมือง จาก 23 ประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะระดับประเทศของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 7 จากเมืองที่เข้าร่วมทั้งหมด

“ โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ OPCC เป็นโครงการประกวดระดับโลกที่จัดขึ้นทุก ๆ สองปี โครงการนี้ได้ให้คุณค่ากับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การเคหะ การคมนาคม และการแก้ปัญหาด้านการสัญจรเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับโลกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ” ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ กล่าวถึงที่มาโครงการ

            ทางด้านนายกเทศมนตรีเมืองยโสธร นายวีระวัฒน์ ภักตรนิกร กล่าวว่า “ยโสธรเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน เป็นเมืองที่มีความสงบ เรียบร้อย สวยงาม  ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย    เป็นเมืองน่าอยู่ผู้คนน่ารัก เมืองยโสธรมีความเป็นธรรมชาติสูง  ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบสังคมพี่น้อง ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดมลพิษ   ประชาชนยังมีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน   มีสามล้อปั่นเป็นพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่เมืองต่างๆ รอบข้าง มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของเมืองไป อย่างรวดเร็ว แต่เมืองยโสธรยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ  ความมีเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมประเพณีประจําถิ่นของตัวเอง ในอีกมุมหนึ่ง  จึงกลายเป็นจุดแข็งและเอกลักษณ์ของเมืองและความโดดเด่นของเมืองแบบที่หาไม่ได้ที่อื่น” 

ทั้งนี้ โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน (OPCC) ถือเป็นส่วนสำคัญของ WWF เพราะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยประเทศในการเจรจาด้านภูมิอากาศระดับชาติ และมีส่วนช่วยให้เมืองบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนในระดับท้องถิ่น โดยปีนี้เน้นย้ำเพิ่มเติมในด้านการคมนาคมและการเดินทางอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะเกือบหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการคมนาคมขนส่ง โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเมืองใหญ่ต่าง ๆ ให้จัดสรรงบประมาณในการหาทางออกที่ยั่งยืนและร่วมมือกันเพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการด้านการสัญจรภายในเมือง ซึ่งจะต้องเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่รบกวนระบบนิเวศของโลกจนเกิดขีดความสามารถในการรักษาสมดุลของตัวมันเอง

สำหรับประเทศไทย มีเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้จำนวน 10 เมือง และคณะกรรมการได้คัดเลือก 2 เมืองเพื่อเข้าสู่รอบสุดท้ายของโครงการ “We Love Cities” ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองยโสธร โดยมีเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนาเมือง โดยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ เทศบาลเมืองยโสธร

 

 

 

“เทศบาลเมืองยโสธรยังคงเดินหน้าในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ  รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  จากความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะผู้บริหารและพนักงานเทศบาลทุกคน ในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนตามนโยบายของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ  โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการยโส  โลว์คาร์บอน ไว้ในแผนยุทธศาสตร์การลดและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองยโสธร พ.ศ.2561-2564” นายกเทศมนตรีเมืองยโสธร กล่าว 

 

เกี่ยวกับ WWF

WWF หรือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก คือ หนึ่งในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่และได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีพันธกิจเพื่อหยุดยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และรณรงค์ลดการก่อมลภาวะและการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะเป็นไปได้เมื่อเราร่วมมือกัน

 

เกี่ยวกับโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน

โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน หรือ One Planet City Challenge ชื่อเดิมคือ โครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน หรือ Earth Hour City Challenge เริ่มดำเนินการโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนเมืองต่างๆ ไปสู่อนาคตที่สามารถฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เมืองได้แสดง

ความมุ่งมั่นและนำเสนอปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานและการเดินทางสัญจรอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 320 เมือง จากทั้ง 5 ทวีปทั่วโลก