สถานทูตสหรัฐ หนุนลดพลาสติกในภูเก็ต

สถานทูตสหรัฐ หนุนลดพลาสติกในภูเก็ต

สมาคมโรงแรมภูเก็ตร่วมกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจัดโครงการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในจังหวัดภูเก็ต

ภูเก็ตและกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย: สมาคมโรงแรมภูเก็ตร่วมกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแก้ปัญหาการจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ตภายใต้โครงการ Science Fellowship โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างมีนัยสำคัญในโรงแรมพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  จากโครงการความร่วมมือนี้ สมาคมโรงแรมภูเก็ต ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกโรงแรม 65 แห่ง (มีห้องพักรวมทั้งสิ้นราว 11,000 ห้องบนเกาะภูเก็ต) ได้ร่วมกันลดปริมาณและประเภทของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในการดำเนินกิจการไปแล้ว และจะยกเลิกการใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกในห้องพักภายในปี พ.ศ. 2562 นี้  การดำเนินโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการลดและกำจัดมลพิษขยะพลาสติกทางทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลในวงกว้างและเป็นภัยคุกคามต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยและในภูมิภาค  เมื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้ในปีหน้านี้ จังหวัดภูเก็ตจะเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวแห่งแรก ๆ ของโลกที่แสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังในการจัดการกับมลพิษทางทะเลและหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว

 

ในการดำเนินโครงการนี้ ดร. มาริสสา เจบลอนสกี (Dr. Marissa Jablonski) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะจากสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจการใช้พลาสติกและการจัดการขยะของโรงแรมและรีสอร์ทบนเกาะภูเก็ต และได้เสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระหว่างเยือนสถานประกอบการ 45 แห่ง จัดทำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศเฉพาะสำหรับแต่ละแห่ง จัดอบรมเชิงปฏิบัติหกครั้งให้แก่ผู้บริหารและพนักงานโรงแรม จัดทำรายชื่อผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้การอบรมวิทยากรในพื้นที่  ในการนี้ ผู้จัดการของโรงแรมหลายแห่งได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรงเพื่อดำเนินการสานต่อความพยายามในเรื่องนี้  นอกจากนี้ ดร. เจบลอนสกียังทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการเพิ่มความตระหนักรู้และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม

 

นายกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า "มหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างใหญ่หลวงจากภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบซึ่งรวมถึงมลพิษทางทะเล" เอกอัครราชทูตเดวีส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 ปริมาณพลาสติก (โดยน้ำหนัก) อาจมีมากกว่าปลาในทะเลก็เป็นได้หากเราไม่ลงมือหยุดยั้งปัญหาเสียแต่วันนี้  สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว  เราภูมิใจที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในโครงการความร่วมมือพิเศษระหว่างรัฐและเอกชนนี้ โดยร่วมกับสมาคมโรงแรมภูเก็ตเพื่อช่วยหาทางแก้ปัญหาที่นำไปปฏิบัติใช้ได้จริง"  

 

นายแอนโทนี ลาร์ค (Anthony Lark) นายกสมาคมโรงแรมภูเก็ต ให้ความเห็นว่า "มลพิษขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดที่โลกกำลังเผชิญอยู่  มหาสมุทรทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้  สิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาท้องทะเลในการดำรงชีวิตต้องทุกข์ทรมานจากการกลืนพลาสติกเข้าไป  เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่จะแก้ปัญหานี้ร่วมกัน  เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า โครงการนี้เป็นการรวมพลังของโรงแรมสมาชิกเพื่อยกเลิกการใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกในห้องพักในปีหน้า  ซึ่งก็หมายความว่า ขวดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนับล้าน ๆ ขวดจะถูกกำจัดออกไปจากวงจรขยะของจังหวัดภูเก็ต"    

เมื่อสมาชิกสมาคมโรงแรมภูเก็ตทุกแห่งนำข้อเสนอแนะของดร. เจบลอนสกีไปปฏิบัติใช้ จังหวัดภูเก็ตก็จะกลายเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวแห่งแรก ๆ ของโลกที่มีการยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งตามโรงแรมและรีสอร์ทมากมายหลายแห่งในพื้นที่  นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว ดร. เจบลอนสกีจะให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Phuket Hotels for Islands Sustaining Tourism Forum (PHIST) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายนนี้  งานดังกล่าวเป็นเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นมาใหม่เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาคของภาคอุตสาหกรรมการบริการ  ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน สัมมนา PHIST ได้ที่ www.phukethotelsassociation.com

 

ทั้งนี้ โครงการ Science Fellowship ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เพื่อดำเนินการจัดให้นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในหลากหลายด้าน  นับตั้งแต่จัดตั้งโครงการจนถึงปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 450 รายเข้าร่วมโครงการทั่วโลก  ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่https://www.state.gov/e/oes/stc/