4องค์กรขยับโปรเจคชุมชนไม้มีค่า

4องค์กรขยับโปรเจคชุมชนไม้มีค่า

สภาวิจัยฯ วางกรอบขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า กรมป่าไม้แจกกล้าไม้ 20 ล้านต้นพร้อมดึงหน่วยงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ไม้ให้เติบโตเร็วธ.ก.ส.ยกระดับธนาคารต้นไม้ สพภ.ชงแปลงระบบนิเวศเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบพันธบัตรแห่งอนาคต

3 หน่วยงานหลักจับมือสภาวิจัยฯ วางกรอบขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าตามมติ ครม. กรมป่าไม้เตรียมแจกกล้าไม้ 20 ล้านต้นพร้อมดึงหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้เติบโตเร็วขึ้น ด้าน ธ.ก.ส.สบช่องยกระดับธนาคารต้นไม้สอดรับเกณฑ์ใหม่ของชุมชนไม้มีค่า ส่วน สพภ.ชงใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์แปลงระบบนิเวศเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบพันธบัตรแห่งอนาคต

จากมติเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.เพชรบูรณ์ ในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีชุมชนไม้มีค่า 2 หมื่นชุมชนภายใน 10 ปี ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ ประชาชนจำนวน 2.6 ล้านครัวเรือนคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.04 ล้านล้านบาท และมีความมั่นคงในอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ พร้อมเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งผลให้สามารถบรรลุเป้าหมายการมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ 40% ของพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานกิจชีวภาพ (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดแถลงแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เป็นเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

กรมป่าไม้แจกต้นกล้า 20 ล้านต้น

นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปลดล็อคปัญหาทางกฎหมายสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการปลูกและใช้ประโยชน์ไม้มีค่า ทำให้ทุกคนมีสิทธิปลูก ตัดและขายได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้หันมาปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง และเพื่อตอบสนองโครงการชุมชนไม้มีค่า ในระยะแรกทางกรมป่าไม้ได้เตรียมต้นกล้าไว้จำนวน 20 ล้านต้นเพื่อให้ชุมชนนำไปเพาะขยายพันธุ์

รวมทั้งสร้างเรือนเพาะชำชุมชนขึ้นในพื้นที่ 500-1,000 ชุมชนในปี 2562 ภารกิจส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ตั้งแต่การเก็บเม็ด การเพาะปลูก การดูแลรักษา โดยกรมป่าไม้มีศูนย์เพาะชำกล้าไม้ 107 แห่งทั่วประเทศจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่คนในชุมชนเป้าหมาย ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นผู้เพาะกล้าไม้จำหน่ายต่อไป

นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานวิจัยภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการวิจัยปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น พันธุ์ไม้โตเร็วอย่าง กระถินเทพา กระถินณรงค์ สายพันธุ์ใหม่ที่โตเร็วมาก โดย 5 ปีสามารถขายเนื้อไม้ได้ หรือหากปล่อยไว้ 10 ปีก็จะกลายเป็นไม้มีค่า หรือแม้กระทั่งไม้สักมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อรองรับกับความต้องการปลูกของประชาชนในอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันการปลูกไม้มีค่าเสมือนกับการออมเงินในรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างเกษตรกรดีเด่นเมืองเพชรบูรณ์ที่ปลูกต้นไม้มีค่า 30 ปี จำนวน 4,700 ต้น ซึ่งประเมินราคาคิดเป็นมูลค่า 15 ล้านบาทจากการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านบาท

ช่วยยกระดับธนาคารต้นไม้

ด้านนายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าสอดคล้องกับแนวการทำงานของ ธ.ก.ส. ที่ได้ทำโครงการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นการรับรองไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมในธนาคารต้นไม้ 115,217 คนจาก 6,804 ชุมชน โดยมีเงื่อนไขใช้ที่ดินจำนองร่วมกับมูลค่าของต้นไม้ ที่ประเมินเป็นหลักประกันในราคาการประเมิน 50% เปรียบเทียบราคาตามมาตรฐานของต้นไม้ที่รับขึ้นทะเบียน

ส่วนทิศทางที่จะร่วมกับโครงการชุมชนไม้มีค่านั้น ธ.ก.ส.จะร่วมกับทุกภาคส่วน เริ่มจากการนำโครงการธนาคารต้นไม้เข้าร่วมด้วย เดิมเกษตรกรแต่ละรายมีต้นไม้อยู่ 100 ต้นแต่เกณฑ์ของโครงการชุมชนไม้มีค่า 1 ชุมชนจะต้องมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 50 คน แต่ละคนจะมีต้นไม้ 400 ต้นต่อคน ฉะนั้น ธ.ก.ส.จึงต้องกำหนดมาตรฐานใหม่เท่ากับเป็นการยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเป็นครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 400 ต้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ถัดมาจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่สามารถใช้ต้นไม้มีค่าเป็นหลักประกัน และการสนับสนุนให้มีการแปรรูปไม้โดยช่างไม้ที่มีฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไม้ จากเดิมจำหน่ายต้นละ 20,000 บาท แต่เมื่อผ่านการแปรรูปจากช่างไม้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์อาจทำให้มีมูลค่าสูงถึง 200,000 บาท เป็นต้น

สพภ.ชงพันธบัตรแทนคุณระบบนิเวศ

ขณะที่นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) กล่าวว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าจะช่วยทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์มากขึ้นซึ่งมีมูลค่ามากกว่าราคาเนื้อไม้ จากการประเมินพบว่า พื้นที่ 1 ไร่ตอบแทนระบบนิเวศไม่น้อยกว่า 90,000 บาทต่อไร่ มูลค่าเหล่านี้สามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ได้ จึงมีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาลในอนาคตโดยใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ให้ระบบนิเวศมีมูลค่าที่สามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ หรือเรียกว่า พันธบัตรการตอบแทนคุณในระบบนิเวศ ซึ่งต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ในฐานะเป็นหน่วยงานบริหารงานวิจัยได้คัดกรองผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบมีจำนวนประมาณ 1,800 เรื่องเกี่ยวกับไม้มีค่าจึงเตรียมนำเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกันจะทำหน้าที่บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันโครงการฯ ให้สำเร็จ