เดลต้าลุยสถานีชาร์จรับยานยนต์ไฟฟ้า

เดลต้าลุยสถานีชาร์จรับยานยนต์ไฟฟ้า

เดลต้า มั่นใจศักยภาพไทยก้าวสู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค ระบุผลจากความเป็นประเทศฐานการผลิตชิ้นส่วนฯ รายใหญ่ของโลก

เดลต้าโปรยยาหอมมั่นใจศักยภาพไทยก้าวสู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค ระบุผลจากความเป็นประเทศฐานการผลิตชิ้นส่วนฯ รายใหญ่ของโลก นโยบายรัฐสนับสนุนด้านการวิจัยและมาตรการทางภาษี ร่วมมือ กฟน.พัฒนาสถานีชาร์จมุ่งรองรับรถทุกประเภทเดลต้าโปรยยาหอมมั่นใจศักยภาพไทยก้าวสู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค ระบุผลจากความเป็นประเทศฐานการผลิตชิ้นส่วนฯ รายใหญ่ของโลก นโยบายรัฐสนับสนุนด้านการวิจัยและมาตรการทางภาษี ร่วมมือ กฟน.พัฒนาสถานีชาร์จมุ่งรองรับรถทุกประเภท


ปี 2561 น่าจะเรียกว่าการก้าวสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อหลายค่ายเริ่มเดินหน้าเปิดตัวโมเดลรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ หลังมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย


อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย


ในงานสัมมนา "DELTA Future Industry Summit 2018: นวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ” นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทเดลต้า อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและสมาคมยานยนต์ฯ พัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยเริ่มติดตั้งจากเมืองใหญ่ขยายไปในส่วนภูมิภาค หลังประสบความสำเร็จในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าส่งให้แก่รถยนต์ค่ายดังทั้งในยุโรปและอเมริกามาแล้ว
ล่าสุดได้พัฒนาอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่สามารถเคลื่อนย้ายและติดตั้งได้ง่ายภายใน 30 นาที มีหัวจ่ายไฟครบทุกแบบ สามารถเพิ่มกำลังการชาร์จไฟได้ตั้งแต่ 50-100 กิโลวัตต์ รองรับอีบัสหรือรถไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะได้

พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและกระทรวงพลังงานในการสนับสนุนด้านข้อมูล รวมถึงการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ชาร์จไฟ โดยได้ทดลองติดตั้งให้แก่การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) จำนวน 10 แห่ง เพื่อใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของสำนักงานจำนวน 20 คันที่วิ่งให้บริการในภารกิจตามสาขาต่างๆ ในส่วนภาคเอกชนขณะนี้ได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บางแห่งและเริ่มมีการติดตั้งเครื่องชาร์จไปจำนวนหลายเครื่องแล้วเช่นกัน

เดลต้ามั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยว่า มีความพร้อมจะเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค จากฐานการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นระบบไฟฟ้า ประกอบกับหัวใจสำคัญคือ แบตเตอรี่ที่ในอนาคตมีราคาถูกลง


ด้านนายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า การไฟฟ้าฯ ได้เตรียมแผนพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 โดยเตรียมติดตั้งระบบชาร์จพลังงานและทดสอบใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดได้ทดลองนำรถบัสไฟฟ้าออกมาทดลองวิ่ง ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฯ ได้ออกแบบระบบไฟรองรับการมาของรถเมล์ไฟฟ้า ต่อไปหากมีรถบัสไฟฟ้าหรือมินิบัสไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟก็พร้อมให้บริการรวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชันค้นหาโลเคชันสถานีชาร์จเพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า


น.ส.อมรรัตน์ แก้วประดับ เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า สมาคมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมและวางมาตรฐานในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยการทำวิจัยและวางมาตรฐานเพื่อเตรียมความพร้อมให้รถยนต์ไฟฟ้าทุกมาตรฐานสามารถใช้งานได้ในประเทศไทย รวมถึงการทำโครงการนำร่องพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งชาร์จตรงและชาร์จระบบกระแสสลับ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 500 สถานีทั่วประเทศ มากกว่า 50% เป็นชาร์จระบบกระแสสลับที่ใช้เวลาการชาร์จนานกว่าชาร์จตรง
เป้าหมายใช้งาน 1.2 ล้านคัน


จากข้อมูลตัวเลขการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2560 มีจำนวน 1 หมื่นกว่าคัน ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในประเทศปี 2560 แบ่งเป็น รถนั่งส่วนบุคคล 82 คัน รถบัส 62คัน รถบรรทุก 2 คัน รถตู้และรถกะบะ 8 คัน รถสามล้อ 14 คัน รถจักรยานยนต์ 1,223 คัน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีสัญญาณที่ดี เห็นได้จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตรถแต่ละค่ายเริ่มเพิ่มจำนวนรุ่นอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งการวิจัยและพัฒนาในสถาบันการศึกษา รวมทั้งมาตรการทางภาษีจากบีโอไอ ทำให้การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือผู้นำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความเป็นไปได้สูง เป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2559- 2579 ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอินและยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน


  “ขณะนี้แนวโน้มพฤติกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจักรยานยนต์ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะการใช้งานสะดวกเหมือนกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง ต่อไปขยายไปยังกลุ่มยานยนต์อื่นๆ โดยภาพรวมแล้วยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับมากขึ้นแต่ต้องอาศัยเวลา”