คสช.แจง 'ข้อมูลยูเอ็น' ไม่รอบด้าน จัดไทยติดประเทศน่าละอาย

คสช.แจง 'ข้อมูลยูเอ็น' ไม่รอบด้าน จัดไทยติดประเทศน่าละอาย

ซัดนักสิทธิมนุษยชนละเมิดกฎหมาย จวกฝ่ายการเมืองอย่าฉวยโอกาสดิสเครดิตรัฐบาล สร้างภาพลบประเทศ

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อย(คสช.) กล่าวถึง กลุ่มการเมือง นำรายงานประจำปีของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของ ยูเอ็น ระบุ ไทยติดใน 38 ประเทศว่าเป็น “ประเทศที่น่าละอาย” มาใช้ขยายผลเพื่อให้ดูเป็นผลลบต่อประเทศไทยนั้น ขอเรียนว่า การรับฟังข่าวสารทางสังคม ช่วงนี้ ต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร พบมีบางบุคคลยังคงพยายามหยิบยกเหตุการณ์ ในวาระต่างๆ บางมุม บางข้อมูล มาแสดงความคิดเห็น หรือทัศนคติส่วนตัว เพื่อให้เกิดผลกระทบกับความน่าเชื่อถือ รัฐบาล และ คสช.

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ซึ่งกรณีเรื่องรายงานประจำปีของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นนั้น. เนื้อหาในรายงานอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชน โดยระบุถึง กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) และมีกรณีเรื่องติดตามจากรายงานของปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้

"ซึ่งทั้งสามกรณี ไม่น่าเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาตลอด. ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานอย่างดี" โฆษก คสช.กล่าวและว่า

จากข้อมูลที่ได้ทั้ง 3 กรณีเป็นลักษณะเหตุเฉพาะบุคคล ที่มีกรณีเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย จึงอาจมีการการดำเนินการเป็นไปตามหลักกฎหมายปกติ. เช่น กรณีที่เคยมีการฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ ก็เป็นเรื่องที่ทางองค์กรหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ถูกนักสิทธิมนุษยชนละเมิดในเรื่องภาพลักษณ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่มีความละเอียดอ่อน

พ.อ.วินธัย ย้ำว่า ข้อมูลในรายงาน มีที่มาอยู่ในกรอบที่จำกัด หรืออาจมีที่มาจากเพียงบุคคลเฉพาะกลุ่ม เท่านั้น ส่วนการมีบางบุคคลนำประเด็นมาขยายผลใช้ในมุมที่เป็นลบนั้น. เท่าที่มีข้อมูล พบว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดิม เชื่อสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่รู้เท่าทัน และมีพัฒนาการในการรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยวิจารณญาณที่สมดุลย์เพียงพอ ไม่โอนเอียงไปตามกระแสเป้าหมายนัยยะทางการเมืองของบางบุคคล