ส่องกระบวนยุทธ์ ทีวีดิจิทัล เกมยื้อเรตติ้ง !

ส่องกระบวนยุทธ์  ทีวีดิจิทัล เกมยื้อเรตติ้ง !

ปาดเหงื่อปนคราบเลือดมา 4 ปี สำหรับ “ทีวีดิจิทัล” สังเวียนธุรกิจที่เต็มไปด้วย “ขวากหนาม” ทั้งกฎเกณฑ์รัฐ บีบให้ผู้ประกอบการแบกภาระต้นทุนสูง โลกดิจิทัลเข้ามาพลิกพฤติกรรมผู้บริโภค แย่ง Eyeball ทว่า กระโจนสู่สนามรบแล้ว ถ้าไม่ถอยทัพ ต้องพลิกกลยุทธ์สู้

4 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก ! ประโยคยอดฮอตสำหรับเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตตลอดจนธุรกิจ แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญเรื่องราวร้ายๆ! อย่างอุตสาหกรรม ทีวีดิจิทัล เพราะผู้เล่นที่เป็นทั้งนายทุน “หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่” ต่างต้องรับมือกับการแข่งขันดุเดือดไม่พอ สิ่งที่ซ้ำเติมสถานการณ์ของธุรกิจให้หลายรายต้อง “ขาดทุน” กลืนเลือดกันตลอด ส่วนหนึ่งคือ “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นหลังประมูลทีวีดิจิทัล 3 เดือนจากนั้น ผู้ประกอบการต้องออกอากาศทันที ผู้ที่มีความพร้อม ต้องเร่งลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆเข้ามาดำเนินธุรกิจจนเกิดการ “ผิดพลาด” เช่นซื้อของผิดสเป็ก ของบางค่ายทีวีดิจิทัล

ขณะที่เจ้าตลาดที่มีช่องอยู่เดิม เคยพึ่งพา “ผู้ผลิตคอนเทนท์ มากมาย ยิ่งบางรายที่ป้อนคอนเทนท์แม่เหล็ก ประมูลช่องเป็นของตัวเอง ต้องถอนคอนเทนท์ออกไปหมด ทำให้เกิดการทุ่มทุนซื้อรายการใหม่มารักษาฐานคนดูไว้ ยังไม่นับต้นทุนค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ค่าพนักงานใหม่ที่ต้องจ้างเข้ามา ซึ่งช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน “คนเก่า” ย้ายไปช่องใหม่ จึงมีการขออัพเงินเดือนแพง กระเทือนผู้ประกอบการทั้งสิ้น

ท้ายที่สุดมีบางราย “ไทยทีวีของพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือรู้จักในชื่อ ติ๋ม ทีวีพูล ถอดใจและ “ยุติ” ทำทีวี 2 ช่อง พร้อมดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของบริษัทเป็นโมฆะ เรียกร้องให้กสทช.คืนเงินค้ำประกันร่วมพันล้านบาท เนื่องจากกสทช.ไม่ปฏิบัติตามสัญญา

การทิ้งธุรกิจทีวีของ “ติ๋ม ทีวีพูล” เป็นเพียงการเอาตัวรอดของผู้ประกอบการที่รู้ว่า สู้ไม่ไหว ไปต่อไม่ได้ เพราะหากไปต่อธุรกิจคงยิ่งเจ็บตัว เพราะนอกจากแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาติประกอบกิจการทีวีดิจิทัลแล้ว ยังมี “ต้นทุนคงที่” อื่นอีกสารพัดให้แบก

ไทยทีวี เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายบทเรียนความ “ล้มเหลว ที่ช่วยสะท้อนให้คนทำทีวี ตลอดจนคนแวดวงสื่อ โฆษณา และผู้คุมกฎหมาย (Regulator) เห็นถึงสถานการณ์บางอย่างของอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะเท็จจริงแล้ว การ “เปลี่ยนมือ” ของ “นายทุน” ช่องต่างๆ ยังตอกย้ำให้เห็นภาพชัดว่ามีผู้เล่นอีกหลายรายที่จริงๆแล้วไม่ไหว คนที่สู้ต่อ พร้อมจัดทัพปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แม้กระทั่งโมเดลธุรกิจ เพื่อให้สถานีอยู่ได้ ส่วนที่ไม่ไหว ก็แค่เปิดทางให้ “เศรษฐี” ที่มีเงินเข้ามาเพิ่มทุนถือหุ้น อย่างช่อง อมรินทร์ ทีวี ได้เจ้าสัวน้อยฐาปน สิริวัฒนภักดี ไปอุ้มไว้ ขณะที่ช่อง ONE31 ได้บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของ “ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” ทายาท “หมอเสริฐ-นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” แห่งพีพีทีวี เข้าไปถือหุ้น

อีก “ตัวแปร” ที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมทีวี จากเป็น “สื่อทรงอิทธิพล” และมีเม็ดเงินโฆษณาสะพัดร่วม “แสนล้านบาท” ต่อปี แต่ปัจจุบันภาพที่เห็น หลังเกิดทีวิดิจิทัล แน่นอนจำนวนช่องเพิ่มจาก 6 เป็น 24 ช่อง ก่อนจะลดเหลือ 22 ในเวลานี้ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม เมื่อ “เทคโนโลยี” สามารถดึงสายตา(Eyeball) ของคนดูให้ไปจับจ้องสื่อในแพลตฟอร์มอื่นๆมากขึ้น กลายเป็นการ Disrupt อุตสาหกรรมให้หนักหนาสาหัส จนคนดูทีวีน้อยลง เรตติ้งช่องลดเป็นว่าเล่น และหนักสุดคงเป็นเรื่อง “รายได้” ที่ลดลง

ต้องเคลื่อน “ทีวีดิจิทัล” ท่ามกลางพายุบุแคมแค่ไหน ธุรกิจต้องรอด! แล้วเกมกลยุทธ์ที่แต่ละสถานี งัดมาต่อกรกันเพื่อแย่งเรตติ้งเป็นอย่างไร ถอดคำ “บิ๊กเพลเยอร์” จอแก้ว

**“พีพีทีวี” ดูดคอนเทนท์อัพเกรด สู่ เวิลด์คลาสวาไรตี้ 

เป็นอดีตเอเยนซี่ ที่ผันตัวมานั่งกุมบังเหียนสถานีโทรทัศน์ สำหรับ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 เข้ามาอยู่บ้านหลังนี้ครบขวบปีพอดี และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในค่ายทีวี “ทุนหนา” ของ “หมอเสริฐ” แห่งบางกอกแอร์เวยส์ และอาณาจักร กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)

กลยุทธ์การปั้นช่องพีพีทีวี ผ่านฝีมือของ “สุรินทร์” เชิงรุกตอนนี้คือการ “ดูด” คอนเทนท์แม่เหล็กจากทั่วทุกมุมโลกมาลงที่ช่องเพื่อป้อนคนดู รายการไฮไลท์ที่ทำให้ช่องมีจุดแข็งและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนคือการดึง “กีฬา” ดังมาไว้ให้พรึ่บ! ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ(EPL), บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลาลีกาสเปน ฯ จนทำให้เรตติ้งช่องอยู่ในระดับสูง และรายได้ก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน เพราะสามารถขายโฆษณาได้ในระดับราคาถึง 3 แสนบาต่อนาที

ทว่า ทราบกันดีว่ากีฬาดัง ราคาลิขสิทธิ์ก็แพงระยับสมกับการเป็น Content is King เพราะบริษัทใช้เงินทุนเป็น “พันล้านบาท” ซื้อมาเสิร์ฟคนดู ดังนั้นเมื่อหักลบรายได้งานนี้ “เจ๊า” กันไป แต่ในมุมของการสร้างแบรนด์ “คุ้มค่า” พอตัว

“แม้เราจะขาดทุน แต่สิ่งทีเราแข็งแรงคือ คนดูมองพีพีทีวีออกว่าเป็นช่องฟุตบอล กีฬา” เขาบอกและขยายความว่า หลายปีที่ผ่านมาพีพีทีวีขาดทุนมาตลอด แต่ไม่ใช่ช่องเดียวที่ประสบปัญหานั้น ส่วนการขาดทุนของช่องเกิดจากการล็อกเงินลงทุนหลักไว้ที่คอนเทนท์กีฬาฟุตบอล ซื้อมาทีทุกลีก หลายฤดูกาล เจตนาเพราะต้องการปรับกลยุทธ์สร้างหน้าตาให้กับช่อง จนเป็นจุดขาย

“หากถามคนดูว่าทีวี 22 ช่องว่าคิดถึงอะไร พีพีทีวีเป็นหนึ่งในช่องในใจ(Top of mind)ของคนดูตอบได้ว่าคิดถึงฟุตบอล”

กีฬาเป็นจุดแข็ง ทำให้ปีนี้ช่องดูดคอนเทนท์กีฬาดังมาเสริมทัพ อย่าง “โมโตจีพี 2018” ทั้ง 19 สนาม มาถ่ายทอดสด, ชิมลางถ่ายทอดสดเทนนิสแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพ่น และเฟรนช์โอเพ่น เป็นต้น เพื่ออัพเกรดช่องจากฟุตบอลสู่ Sport World class

แต่เป็นเวิลด์คลาสด้านกีฬาไม่พอ ต้องต่อจิ๊กซอว์สู่ด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะ วาไรตี้” จึงเห็น “สุรินทร์” โชว์หมัดเด็ด “ดูด” คอนเทนท์ดังอย่าง “เดอะ วอยซ์ 3” รายการ ได้แก่ เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ 2018, เดอะ วอยซ์ คิดส์ และ เดอะ วอยซ์ ซีเนียร์ จากช่อง 3 มาอยู่พีพีทีวี

และยังดึง “เดอะ เฟซเมน ไทยแลนด์ 2” ที่มีกันตนา เอฟโวลูชั่น เป็นเจ้าของสิทธิ์ ผลิตรายการป้อนช่อง 3 มาอยู่ที่นี่เช่นกัน

นอกจากสายสัมพันธ์ของ “สุรินทร์” ที่เคยเป็นผู้นำเดอะ วอยซ์ ซึ่งเป็นรายการของ “ทัลปา” มาผลิตในไทย จุดที่ทำให้พันธมิตรเปลี่ยนใจมาซบพีพีทีวี คือการเปิดกว้างในเวลาออกอากาศที่ไม่ใช่เสาร์-อาทิตย์ช่วง 18 นาฬิกา ซึ่งนั่นไม่ใช่เวลาไพรม์ไทม์ แต่นาทีทองคือจันทร์-ศุกร์ เวลา 20.30 น.จนถึง 22.30 น. อีกทั้งทั่วโลกก็ออนแอร์รายการดังกล่าวในช่วงไพรม์ไทม์ทั้งสิ้น เช่น เดอะวอยซ์ รวมถึงมีการให้คำมั่นกับพาร์ทเนอร์อย่างทัลปา จะซื้อรายการเข้ามาผลิตและออกอากาศในไทยเพิ่มนั่นเอง  

อย่างไรก็ตาม คอนเทนท์ “ละคร” ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยทุกยุคทุกสมัย จิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่จะเห็นปีหน้าคือ การออนแอร์ละครนั่นเอง หลังจากที่ผ่านมาได้มือดีอย่าง หน่อง พลากร สมสุวรรณ” อดีตมือบริการของช่อง 7 มาช่วยดูแลด้านคอนเทนท์ น่าจับตาเหลือเกินว่าจะเห็นเกมรุกละคนที่แข็งแรงขึ้น หลังจากที่พีพีทีวีเคยผลิตละครออนแอร์และห่างหายไปร่วม 2ปี

“ปีหน้าเราจะมีละคร 1 สล็อต ราว 10 เรื่อง” เขาบอก ก่อนจะขอคำแนะให้ “ชี้เป้า” ดาราดัง ผู้จัดที่น่าดึงมาร่วมงานกับช่องด้วย

แผนดังกล่าว “สุรินทร์” มีเป้าหมายที่ต้องการ(Aspiration goal)พาพีพีทีวี ให้พลิกขาดทุนสู่ “คืนทุน” ภายใน 2-3 ปี และเรตติ้งช่องควรขยับไปติดท็อป 5 ให้ได้

**คอนเทนท์ต้องสดใหม่ สะกดคนกลับมาดูจอแก้ว

เป็นอีกช่องที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยทุนใหม่ทายาท “ปราสาททองโอสถ” เข้ามาเพิ่มทุน เพิ่มสภาพคล่องเอื้อให้การทำธุรกิจมากขึ้น แต่หากมองภาพรวมของอุตสาหกรรม เดียว ตั้งตระกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่องวัน 31 บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ทุกครั้งที่เจอหน้าค่าตาเพื่อนพี่น้องในวงการ “แค่วางมือบนบ่าน้ำตาก็ไหล” และยิ่งกว่าน้ำตาเงินเลือดและเงินทุนที่ไหลไม่หยุดหย่อน

แต่หน้าที่คนทำงานก็ต้องหาทางพลิกขาดทุนให้เป็น “กำไร” ให้ต่อไป นี่ยังเป็นภารกิจสำคัญของ “ช่องวัน” ด้วย ที่เขาบอกว่าสิ้นปี คืนทุนแน่! เพราะผลงานที่ผ่านมาเดินตามเป้าหมายได้ 60% แล้ว

การห้ามเลือดให้ธุรกิจช่องวัน บริษัทยังคงเดินหน้าหาคอนเทนต์ปัง (Big Hit) โดยเฉพาะละคร อย่างน้อย 1 เรื่องมาโกยเรตติ้ง นอกจากจะสร้างโปรไฟล์ให้เอเยนซี่เห็นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นที่ลูกค้าจะ “ลงเงินโฆษณา” ที่ช่องด้วย

ปีที่แล้ว “พิษสวาท” ดังทั่วบ้านทั่วเมือง มาปีนี้ “ล่า” ตรึงคนดูอยู่หมัด ไม่พอ “เมีย2018” กลายเป็น Talk of The Town คนดูฟินจิกหมอนกับพระนางแบบสุดๆ แต่ละตอนมีคนดูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ช่องวันกวาดเรตติ้งทั้งประเทศเป็นเบอร์ 1 ในช่วง ไพรม์ไทม์” ชนะช่อง 3-7 ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณดีสำหรับการทำธุรกิจทีวี

กลยุทธ์ในการดึงคนดูและ “แย่งเรตติ้ง” บนจอแก้ว “เดียว” ให้ความสำคัญกับ “ความต้องการเชิงลึก”หรือ Insight ของคนดูอย่างมาก หากพบฐานคนดูทีวีส่วนใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป และเป็น “ผู้หญิง” มากกว่าชายละครผัวเมียอยู่ในจริตคนดู แต่ผู้หญิงยุคนี้ไม่หงอ การลุกขึ้นสู้ทำให้คนดูต้องการมีส่วนร่วม(Engagement) เอาใจช่วยนางเอก การเกาะติด “ขอบจอ” จึงเกิดขึ้น

แค่นั้นไม่พอ เมื่อละครออนแอร์ แต่ปัจจุบัน “ออนไลน์” เป็นแพลตฟอร์มที่ถุกใช้ดูย้อนหลัง(รีรัน)มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงต้องเพิ่มความ “สด” และ “เร็ว” ของจอแก้วให้มากขึ้น ละครจะเดินเรื่องยืดยาด ตรึงคนดูไม่ได้แล้ว จึงเห้นการเปิดเรื่องละคร “พิษสวาท” มีฉากตัดคอนางเอกอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

“การทำคอนเทนท์สิ่งสำคัญสุดต้องคิดถึงคนดู ยุคนี้คนทำทีวีต้องถอดรหัส แกะโค้ดคนดูให้ออกว่าต้องการอะไร เพราะพฤติกรรมเขาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และสูตรสำเร็จการทำคอนเทนท์เดิม ใช้ไม่ได้กับคอนเทนท์ต่อไป”

เพราะธุรกิจต้องขับเคี่ยวคู่แข่งหลาก “แพลตฟอร์ม” ทำให้การวางผังรายการยังต้องเกาะติดทุกวัน เพื่อพร้อมปรับเปลี่ยน หากเห็นช่องอื่นเตรียมละครใหม่ลงจอ แล้วละครที่ช่องตัวเองจะลงอาจสู้ยาก ต้องปรับทันที นั่นจึงทำให้เห็นการถ่ายทำไปแล้วออนแอร์ การมีฉากจบสด(Live) เกิดขึ้น เพื่อเอาใจคนดูแบบสุดๆ แต่กลยุทธ์ล่าสุดคือการทำ “อีเวนท์ เทเลวิชั่น” ดึงคนดูเข้าไปมีส่วนร่วมกับฉากถ่ายทำละครเลย นอกจากได้ Engagement ยังได้กระแสการบอกต่อ(Word of Mouth)ขยายต่อบนโลกออนไลน์ ได้แรงคนดูอีกกลุ่มโดยประหยัดแรงโปรโมทได้เปลาะหนึ่ง

กลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้คือการผสานสื่อ “ออนไลน์” ด้วยการนำคอนเทนท์ไปฉายซ้ำบน “ไลน์ทีวี” เพื่อตอบโจทย์การดู Anytime Anywhere และยังมีแอพลิเคชั่นช่องให้ดาวน์โหลด เป็นต้น

นอกจากนี้ การทำคอนเทนท์ของช่องวัน เริ่มเป็นแมสมากขึ้น เพราะการธุรกิจต้องจับตลาดใหญ่(Mass)ให้ได้ และพฤติกรรมคนดูภูธรวันนี้ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องท้องไร่ท้องนา แต่มีความเป็นคนเมืองมากขึ้นด้วยพลังของ “ดิจิทัล” ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสพรสนิยม แบรนด์ เหมือนกันได้โดยไร้พรมแดน

วางกลยุทธ์แยบยล ผลลัพธ์ที่ได้ “เดียว” คอนเฟิร์มว่านอกจากเรตติ้งชนะ! ยังโกยรายได้ช่วงละครให้เติบโต 30-40%

**ไม่ต้องโตสวนกระแสตลาด ขอโฟกัส “กำไร”

หากย้อนตำนานสถานีโทรทัศน์ไทยที่อยู่มานานสุด ต้องยกให้ “อสมท.” หรือ MCOT เพราะอายุอานามมากกว่า 60 ปีแล้ว และถือเป็นองค์กร “รัฐวิสาหกิจ” ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ อสมท.เป็นหนึ่งในช่องทีวีสำคัญของไทย ยุคอนาล็อกครองเรตติ้งท็อป 3 แต่พอเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล คู่แข่งมากขึ้นทำให้เรตติ้งตกชั้นไป โดยเดือนสิงหาคม 2561 หล่นอยู่อันดับ 12

“เขมทัตต์ พลเดช”กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)หรือช่อง MCOT เล่าว่า การเคลื่อนธุรกิจของช่องเวลานี้ ไม่ได้โฟกัสเรตติ้ง หรือการเติบโตของรายได้เป็นหลัก เพราะสถานการณ์ตลาดไม่เอื้อ เมื่อเม็ดเงินโฆษณา “หมื่นล้าน” เทผ่านสื่อทีวีอยู่ในช่วง “ขาลง” จึงได้รับโจทย์จากคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ให้มุ่งทำ“กำไร”เป็นหลัก

อสมท.เป็นเหมือนกับหลายสิบช่องที่ “ขาดทุน” ปีก่อนมากกว่า 2,500 ล้านบาท และครึ่งปีแรก 2561 ขาดทุนอยู่ 320 ล้านบาท

การพลิกฟื้นทำกำไร โจทย์ใหญ่ของอสมท. คือเรื่อง “คน” ที่มีกว่า 1,000 ชีวิต ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่(Fix Cost)ที่สูง เมื่อเทียบประสิทธิภาพการทำงานกับคู่แข่งอย่าง “เวิร์คพอยท์” ที่มีจำนวนสูสีกัน กลับ “แตกต่าง” กันมาก เพราะคู่แข่งสามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่า(Value)ผลักดันช่องให้ยืนอยู่แถวหน้าได้

ขณะที่ “จุดอ่อน” คือขาดคอนเทนท์บันเทิงจะใช้เป็นแม่เหล็กสะกดคนดู อีกทั้งการจะดึงเงินจากเอเยนซี่ที่จะวางแผนซื้อโฆษณาให้ลูกค้า รายการที่ให้ความบันเทิงเริงใจ ยังขายได้เสมอ ครั้นบริษัทจะลงทุนเอง ยังเผชิญกับภาระต้นทุนที่สูงมาก สิ่งที่ทำได้ จึงพยายามรักษา “จุดแข็ง” ของรายการข่าวที่ดูง่าย เป็นมิตรกับคนดู เพื่อรักษาฐานผู้ชมไว้

“ช่องเราไม่มีคอนเทนท์ว้าว! เลย แต่ยังรักษาฐานคนดูไว้ได้ และเรตติ้งไม่ได้ตก เราจึงเกาะกลุ่มเรตติ้งไว้ โดยมุ่งลดต้นทุน และทำกำไรให้ได้ นิดหน่อยก็ยังดี”

สำหรับทีวีดิจิทัลบาดเจ็บกันหนัก เพราะการลงทุนสูงทั้งค่าใบอนุญาติ ค่าคอนเทนท์ ซึ่งประเมินกันขั้นต่ำลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ยิ่งคอนเทนท์บันเทิง แค่ดาราตัวท็อปจ่ายค่าตัวกัน 50 ล้านบาทต่อปี ค่าพนักงาน ค่าบริหารจัดการสารพัด ดังนั้นไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ใน Tier 1 เรตติ้งท็อป 5 หรือเทียร์รองลงไป จึงล้วนมีค่าใช้จ่ายมโหฬาร ช่องที่แกร่งก็อ่อนแอลง ช่องที่อ่อนแอก็ต้องกลืนเลือดต่อไป

“4ปี ของการทำทีวีดิจิทัล คือทำไปก็ไม่ได้ตังค์(เงิน)”

**ยืนหยัดในความแตกต่าง

 MONO 29เป็นช่องโกยเรตติ้งท็อป 3-4 สลับกัน โดยจุดขายที่ทำให้ “หน้าใหม่” ก้าวมาหายใจรดต้นคอกับ “เบอร์ 1-2” อย่างช่อง 7 และ 3 คือ กลยุทธ์ความแตกต่างจากผู้เล่นทุกราย ด้วยการอัดคอนเทนท์ลงผังเป็น ภาพยนตร์และซีรี่ส์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่ง “ฮอลลีวู้ด” เรียกว่ากินเวลาไปถึง 70%

ผลลัพธ์ของช่อง “หนังดีซีรีส์ดัง” นำหนังระดับบล็อกบัสเตอร์มาออนแอร์ไม่หยุดหย่อน ทำให้โมโน สามารถครองอันดับต้นๆ ยิ่งล่าสุด เจอพังเวทย์มนต์พ่อมดน้อย “แฮรี่ พอตเตอร์” แบบมาราธอนทุกภาค ทำให้เรตติ้งพุ่งกว่าเดิมด้วย

“นวมินทร์ ประสพเนตร”กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ผู้บริหารช่อง MONO29 ย้ำว่า โมโนเป็นหนึ่งในช่องที่ธุรกิจยังไปได้ ปัจจัยที่ทำให้บริษัทเติบโต มาจากเนื้อหาของรายการที่ดีโดนใจผู้ชม(Content is King)จริงๆ ที่สำคัญยังสร้างความแตกต่างจากช่องอื่นๆ

ปัจจุบันโมโน กำลังเขย่าคอนเทนท์ใหม่ เพิ่มรายการกีฬาให้มากขึ้น โดยวางสัดส่วนไว้ 5% ของรายการทั้งหมด และกลยุทธ์ดังล่าวคาดว่าจะผลักดันรายได้ให้แตะ 1,500 ล้านบาทในสิ้นปีนี้