นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.ทรัพยากรน้ำฯ เร่งเครื่อง 11 โครงการ

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.ทรัพยากรน้ำฯ เร่งเครื่อง 11 โครงการ

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.ทรัพยากรน้ำฯ เร่งเครื่อง 11 โครงการใหญ่ปี 62 เปลี่ยนชื่อแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นแผนแม่บท

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.อ.ฉัตรชัย ภายหลังการประชุมว่า ในส่วนความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ปรับชื่อใหม่เป็นแผนแม่บท เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกันความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ พ.ศ. ... อยู่ในวาระ 2-3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้เข้ามามีความตั้งใจในการทำงานเต็มที่ ซึ่งตนไม่อยากบอกว่าเราเริ่มโครงการช้าหรือไม่ และเราไม่ได้คดว่าทำในเวลาสั้นๆ แต่วางรากฐานเรื่องน้ำให้ประเทศเกิดความมั่นคง จึงขอฝากนักการเมืองและรัฐบาลที่จะเข้ามา หากไม่เดินต่องานทั้งหมดจะสะดุด รัฐบาลชุดต่อไปควรจะต้องทำ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องช่วยเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลชุดต่อไปเดินหน้าตามแผนงานที่เราวางไว้ ซึ่งแผนงานที่เราคิดเกิดมาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้งประเทศ เป็นคนช่วยกันคิดและวางแผน รัฐบาลไม่ได้นั่งเทียนเขียนขึ้นมาเอง

ขณะที่นายสมเกียรติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์น้ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการขับเคลื่อนเมื่อปี 2558 มีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รัฐบาลได้ตั้งเป้าเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือประมาณ 179 หมู่บ้าน ที่ประชุมจึงมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 62 โดยยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการได้มีการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. .... สำหรับการพัฒนาลุ่มน้ำเชิงพื้นที่ปัจจุบันเรามีการกำหนด 66 พื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ โดยพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำมี 53 แห่ง และอีก 13 แห่งเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการคลองระบายน้ำบางบาล – บางไทร ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และยังรับทราบแผนการทบทวนการขยายยุทธศาสตร์น้ำ จาก 12 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเสนอกรอบเวลาประมาณเดือน ต.ค.

ด้านนายวันชัย กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ช่วงฤดูฝนคาดว่าจะหมดในช่วงเดือนต.ค. โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนต.ค.นี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ พายุใต้ฝุ่นมังคุดคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคเหนือและอีสานตอนบน จนถึงวันที่ 19 ก.ย.นี้ ซึ่งในวันที่ 15 ก.ย.ต้องเฝ้าระวังที่ จ.นครนายก สระแก้ว ระยอง และตราด โดยจะมีฝนมากกว่า 50 มิลลิเมตร ส่วนวันที่ 16 ก.ย.จะมีจ.ตราด ระนอง และพังงา มีฝนมากกว่า 50 มิลลิเมตร ส่วนวันที่ 17 ก.ย. ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย น่าน เป็นต้น ซึ่งฝนที่จะตกภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก จะทำให้บริเวณลุ่มน้ำมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง