BWG ได้เวลาผลัดใบ 'ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ'

BWG ได้เวลาผลัดใบ 'ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ'

คำบอกเล่าเรื่องการทำงานของพ่อในวัยเยาว์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 'ส้ม-ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ' ทายาทคนโต 'สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ' ผู้ก่อตั้ง บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน วางเป้าหมายเติมธุรกิจใหม่ๆ ในพอร์ตลงทุนต่อเนื่อง !!

'ถูกหล่อหลอมเรื่องธุรกิจจากพ่อตั้งแต่อายุแค่ 10 ขวบ' จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว สุดท้ายเติบโต และเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวหลังเรียนจบ การเข้ามาช่วยงานคุณพ่อ แม้จะมีภาวะ 'กดดัน' เพราะประสบการณ์เรื่องการทำธุรกิจยังน้อย แต่ความคิดต้องการเห็นธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง และยั่งยืนในอนาคต...!!   

'ส้ม-ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ' กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG ลูกสาวคนโต 'อายุ 29 ปี' ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 2 คน ของ 'สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ' ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้หุ้นใหญ่ สัดส่วน 4.78%  (ณ วันที่ 27 มี.ค. 2561) แจกแจงวิสัยทัศน์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek'  

เมื่อทายาทคนโตของ 'สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ' ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ BWG ตัดสินใจเข้ามาทำงานและเริ่มเรียนรู้งานในตำแหน่งเลขาพ่อตั้งแต่ปี 2555  จนกระทั้งเมื่อเดือน ส.ค.2561 ผู้เป็นพ่อ แต่งตั้งให้ลูกสาว ขยับตำแหน่งมานั่งเป็น 'กรรมการรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร'  

ก่อนที่ 'ส้ม-ณัฐพรรณ' จะมานั่งทำงาน BWG ย้อนกลับไปวัยเด็ก เธอบอกว่า คุณพ่อเป็นคนชอบพูดชอบคุย คุณพ่อจะใช้วิธีการคุยกับลูก คือ กลับมาจากทำงานมักจะมาเล่าเรื่องงานที่เจอในแต่ละวันให้ฟังและจะถามความคิดเห็นว่ามีความคิดเห็นยังไงบ้าง และจะรับฟังความคิดเห็นของเด็กอายุ 10 ขวบตลอด ซึ่งพ่อไม่เคยบอกว่าความคิดนั้นผิดหรือถูก แต่จะคอยเติมคอยเสริมสิ่งที่ขาดให้ แม้แต่ปัจจุบันก็ยังทำเหมือนเดิม !! 

'จากการหล่อหลอมและวางรากฐานการทำธุรกิจตั้งแต่วัยเยาว์ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยความที่เกิดมาในช่วงที่คุณพ่ออยู่ในช่วงของการก่อตั้งธุรกิจ จึงเห็นความยากลำบากและเหนื่อยของพ่อตลอด'    

เธอ เล่าว่า เป็นคนชอบทำงาน โดยทำงานตั้งแต่เรียนมหาวิยาลัยด้วยการรับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 300-500 บาท แต่รู้สึกว่าได้เงินน้อย ประกอบกับช่วงเรียนปี 3 มีเวลาว่างจากการเรียนจากการที่ตนเองลงทะเบียนเรียนในช่วงปี 1 และ 2 หนักมาก  

ตอนนั้นจึงเกิดความคิดอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง 'ในวัยแค่ 20 ปี' จึงตัดสินใจเปิด 'ร้านทำเล็บ' ในย่านสยามสยามสแควร์ (Siam Square) โดยใช้เงินเก็บส่วนตัว 'หลักล้านบาท' ซึ่งไปปรึกษาพ่อและแม่ทั้งสองท่านก็สนับสนุนเต็มที ตนเองจึงเดินหน้าทำแผนธุรกิจเองทั้งหมด ไม่ว่าจะหาทำเลเช่าร้าน ช่วงนั้นเดินสยามสแควร์ทุกวัน และติดต่อหาช่างทำเล็บประจำมาทำงาน      

'เรียกว่าหลังคุณพ่อและคุณแม่สนับสนุนในการทำธุรกิจเต็มที เราก็ใส่เกียร์เดินหน้า พ่อกับแม่พูดว่าถือเป็นการซื้อประสบการณ์ให้ลูก ทำให้รู้ไปเลยถ้าธุรกิจเจ๊งก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หากประสบความสำเร็จก็ยินดีด้วย'  

โดยในช่วงแรกๆ ธุรกิจ 'ขาดทุน' เพราะว่ายังไม่มีลูกค้ารู้จักร้าน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราต้องดิ้นรน ตอนนั้น คิกว่าเราต้องทำให้ลูกค้ารู้จักร้านทำเล็บของเราให้ได้ ซึ่งร้านทำเล็บเป็นร้านแรกๆ ที่หันมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบโปรโมชั่นลดราคา และจ้างให้คนมาเดินถือป้ายร้านของเราไปทั่วๆ พื้นที่สยามสแควร์ เมื่อเราทำการตลาดมาเรื่อยๆ ร้านทำเล็บเริ่มมีผลดำเนินงานพลิกมาเป็น 'กำไร' แต่ก็ทำธุรกิจร้านทำเล็บอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนจะปิดกิจการเพราะว่าต้องเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ 

ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน (ไฟแนนซ์) ประเทศอังกฤษ ในเวลาเรียนเพียง 10 เดือน ก่อนจะกลับมาทำงานในตำแหน่งแรก คือ 'เลขาส่วนตัวพ่อ' ซึ่งเป็นช่วงของการเรียนรู้งานด้านเอกสารต่างๆ เพราะว่าพ่อจะใช้วิธีสอนโดยให้โจทย์การทำงานไม่ใช่แค่เลขาเท่านั้น แต่ต้องสรุปรายงานทุกอย่างก่อนจะถึงคุณพ่อ ไม่ใช่แค่จดตารางนัดหมายอย่างเดียว   

จากนั้นไม่นาน ก็ขยับไปทำงานในตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) หน้าที่หลัก คือ ให้ข้อมูลบริษัทกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์

ผลงานโดดเด่นของลูกสาวคนโตของ 'สุวัฒน์' คือ หุ้น BWG ให้เป็นที่รู้จักในสายตากองทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างชาติ ทำให้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จากเหล่านักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ บ่งชี้ช่วงที่ผ่านมามีกองทุนสนใจติดต่อเข้ามาพบจำนวนมาก หลังจากได้นำเสนอข้อมูลให้กองทุน นักวิเคราะห์ รวมทั้งนักลงทุนรายย่อย 

จากการตรวจสอบสัดส่วนการถือ 'หุ้น BWG' พบว่า มีกองทุนถือหุ้น ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จก. (มหาชน)-ทรัพย์สินของบริษัทฯเพื่อลูกค้า จำนวน 146,395,000 หุ้น คิดเป็น 3.82%   , N.C.B.TRUST LIMITED-NORGES BANK 11 จำนวน 112,939,900 หุ้น คิดเป็น 2.95% , บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 90,436,750 หุ้น  คิดเป็น 2.36% , CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH จำนวน 88,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.30% 

กองทุน N.C.B.TRUST LIMITED-POLUNIN EMERGING MARKETS SMALL CAP FUND, LLC จำนวน 79,050,953 หุ้น คิดเป็น 2.06% และ THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED จำนวน 30,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.78% (ตัวเลข ณ วันที่ 27 มี.ค.2561) 

'จากการได้พูดคุยกับนักลงทุนประเภทกองทุน นักวิเคราะห์ และรายย่อย ค้นพบว่าผู้ถือหุ้น BWG รายย่อยดุจริงๆ และค้นพบว่ากองทุนแม้จะสอบถามข้อมูลมากแต่ไม่น่ากลัวเท่ารายย่อย ขณะที่นักลงทุนรายย่อยจะถามแต่เป็นสิ่งที่เราตอบไม่ได้ แม้ว่าเราอยากจะตอบก็ตอบไม่ได้'  

นอกจากนี้ การขยับมารับตำแหน่ง IR มีอีกหนึ่งเป้าหมายปรับภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะเริ่มทำในปีหน้า เนื่องจากต้องการให้คนข้างนอกรับรู้ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร จากเดิมที่บริษัทโฟกัสแค่เรื่องหุ้น การตลาด แผนธุรกิจ ทว่าตอนนี้เริ่มมาเติมในส่วนที่ยังไม่ได้ทำ 'ก็เปรียบเหมือนเรากำลังมาเติมกิ่งกานใบให้ต้นไม้สวยงามขึ้น'   

โดยในปีหน้า บริษัทจะมีโปรเจคคืนกำไรให้สังคม และช่วยให้เราอยู่ร่วมกับชุมชุนได้ในระยะยาว นั่นคือ 'โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชุนตามศาตร์ของพระราชาในรัชกาลที่ 9'  สืบเนื่องจากธุรกิจของเราไปที่ไหนก็จะมีแต่คนไม่ตอนรับ ดังนั้น บริษัทจึงมีหาที่ทำความเข้าใจกับชุมชน  

'หญิงเก่ง' เล่าต่อว่า สำหรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ มีเป้าหมายอยากพัฒนาธุรกิจให้ครบวงจร รวมทั้งการเปิดตลาดลูกค้าใหม่ โดยแผนธุรกิจมองหาโอกาสในการเติบโตในธุรกิจใหม่ อาทิ ขยะอิเล็กทรอนิกซ์ หรือ น้ำเสีย ซึ่งมองว่ายังมีช่องทางในการเกิดโครงการใหม่ๆ ได้อีกมาก 

ปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ทั้งในส่วนที่ไม่อันตราย (Non-Hazardous Waste) และที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste)  โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 6,000-7,000 รายต่อปี ซึ่งเมืองไทยตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยตัวเลขโรงงานในเมืองไทยมี 'หลักแสนแห่ง' แต่คิดเป็นสัดส่วนโรงงานที่มีมาตรฐานในการกำจัดขยะ 'แค่ 20%' ของโรงงานทั้งหมด ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตอีกมาก 

ขณะที่ ราคาการกำจัดขยะได้มาตรฐานของเมืองไทยถือว่าต่ำกว่าในต่างประเทศถึง '4-5 เท่า' ประกอบกับนโยบายภาครัฐเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น มองว่าทิศทางอนาคตน่าจะมีโรงงานเข้ามากำจัดขยะให้ถูกต้องและมีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ ธุรกิจใหม่ที่บริษัทเริ่มลงทุน อย่าง 'ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม' ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าในธุรกิจใหม่ ภายใต้ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) เป็นผู้ให้บริการผลิตและจาหน่ายกระแสไฟฟ้า จากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดย BWG ถือหุ้น 60% และพันธมิตร 40% 

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 16.5 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ และคาดว่าปีหน้าจะ COD อีก 2 แห่ง กำลังการผลิต 8.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าโรงแรกๆ ที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม (RDF) 

'อนาคตอยากมีจำนวนโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หากภาครัฐเปิดประมูล (ไลเซนส์) เราก็พร้อมจะร่วมประมูล ซึ่งปัจจุบันเราเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในกลุ่มขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของเมืองไทย และเรามีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเตาเผาขยะที่เป็นอันตรายอีกด้วย'    

สำหรับ การขยายไป 'ต่างประเทศ' ล่าสุดบริษัทมีการลงนามร่วมกับ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ในการบันทึกความเข้าใจในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดการขยะของเสียและแปรรูปขยะเป็นพลังงานในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวดำเนินการภายในระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ขอบเขตของการพัฒนาร่วมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายร่วมกันศึกษา สำรวจ และประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทนและการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเสถียรภาพของระบบพลังงานของเมืองไทย  

'คาดว่าในปีหน้าจะเป็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ทั้งในการลงทุน และสัดส่วนการถือหุ้นด้วย ซึ่งยังมีอีกหลายประเทศติดต่อให้บริษัทเข้าไปลงทุน ลักษณะคล้ายๆ กับสมัยอดีตที่เมืองไทยไปขอศึกษาดูงานในต่างประเทศ'  

ท้ายสุด 'ณัฐพรรณ' ทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับนโยบายของบริษัทต้องการขยายการลงทุนออกไปหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งอนาคตสัดส่วนรายได้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหากธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้เข้ามาจำนวนมาก