ลอนดอนเสียแชมป์ 'ฮับ' การเงินโลก

ลอนดอนเสียแชมป์ 'ฮับ' การเงินโลก

ผลสำรวจล่าสุดชี้ กรุงลอนดอนเสียตำแหน่งแชมป์ฮับการเงินโลกให้กับนครนิวยอร์ก ผลจากความไม่แน่นอนกรณี “เบร็กซิท” ขณะที่กรุงเทพมหานครร่วง 11 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 48

บริษัทที่ปรึกษา “ซีเยน” (Z/Yen) เผยแพร่ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (จีเอฟซีไอ) ฉบับล่าสุด พบว่า นครนิวยอร์กของสหรัฐ แซงหน้ากรุงลอนดอนของอังกฤษ ขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ถือเป็นการโค่นเมืองหลวงอังกฤษได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2558 แม้ทั้ง 2 เมืองจะมีคะแนนรวมลดลงก็ตาม

รายงานระบุว่า “เบร็กซิท” หรือการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ เป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมการเงินในกรุงลอนดอน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินช่วงปี 2550-2552 เนื่องจากบรรดาธนาคารและบริษัทประกันภัยจะเสียสิทธิในการเข้าถึงตลาดอียู ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนั้น หลายฝ่ายเตือนว่า ภาคการเงินในกรุงลอนดอนอาจย้ายตำแหน่งงานจำนวนมากไปอยู่ในเมืองหลวงแห่งอื่น ๆ ของสมาชิกอียูแทน

ผลการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า ภาคการเงินต้องการให้รัฐบาลอังกฤษทำข้อตกลงเบร็กซิทก่อนถึงเส้นตายในเดือนมี.ค. ปีหน้า

“ในโลกที่มีการแข่งขันสูง เราไม่อาจชะล่าใจได้” นายไมค์ เซลิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเดอะซิตียูเค กลุ่มอุตสาหกรรมของอังกฤษ ระบุ และว่า “กรุงลอนดอนและนครนิวยอร์กขับเคี่ยวกันเป็นอันดับ 1 ในดัชนีนี้มานาน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตหลังเบร็กซิท น่าจะเป็นตัวแปรที่ทำให้อันดับเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้”

ส่วนศูนย์กลางการเงินโลกอันดับ 3 ตกเป็นของฮ่องกง อันดับ 4 สิงคโปร์ อันดับ 5 นครเซี่ยงไฮ้ของจีน อันดับ 6 กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น อันดับ 7 นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย อันดับ 8 กรุงปักกิ่งของจีน อันดับ 9 นครซูริคของสวิตเซอร์แลนด์ และอันดับ 10 เมืองแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนี ส่วนกรุงเทพมหานครตกจากอันดับ 37 ในปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับ 48

นายเซลิกเสริมว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในดัชนีจีเอฟซีไอครั้งนี้ คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของศูนย์กลางการเงินแห่งต่างๆ ในเอเชีย

“ปัจจุบัน ฮ่องกงมีคะแนนตามหลังกรุงลอนดอนเพียง 3 คะแนนเป็นครั้งแรก ขณะที่สิงคโปร์ นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงโตเกียว ไล่ตามมาติดๆ และเนื่องจากศูนย์กลางการเงินในอเมริกาเหนือบางส่วนมีคะแนนลดลงเช่นกัน เอเชียจึงน่าจับตามากกว่ายุโรป ซึ่งกรุงลอนดอนและอังกฤษจะเผชิญกับความท้าทายในหลายปีข้างหน้า”

ดัชนีจีเอฟซีไอใช้เกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ ความสะดวกในการทำธุรกิจ การพัฒนาของตลาดเงิน โครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถของบุคลากร ชื่อเสียง และปัจจัยอื่นๆ รวบรวมข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก