ปั้นมือชง'วัยไม่รู้โรย' เถ้าแก่ร้านกาแฟชิคชิค

ปั้นมือชง'วัยไม่รู้โรย' เถ้าแก่ร้านกาแฟชิคชิค

เมื่อไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย วัยมีเงินพร้อมประสบการณ์ แต่มีพลังงานจำกัด จึงต้องค้นหาธุรกิจตอบโจทย์คนวัยเกษียณ ร้านกาแฟจึงเป็นโมเดลธุรกิจทางเลือกหนึ่ง ปั้นธุรกิจสุดชิค ด้วยลีลาคนชราที่ไม่ยอมกายใจร่างเลยตามกาลเวลา

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการหางบประมาณเพื่อดูแลสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ ที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2564 จำนวนประชากรผู้สูงอายุ วัยเกษียณอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน หรือ สัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ 

นี่เป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมงบประมาณดูแลผู้สูงวัย การหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้พวกเขา จึงเป็นทางเลือกช่วยลดภาระพึ่งพางบประมาณ ที่สำคัญไม่ต้องรอคอยให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูตามค่านิยมสังคมไทย

บนตัวตั้งโจทย์ที่ว่า “ผู้สูงวัย” เหล่านี้เต็มไปด้วยคุณค่า มากประสบการณ์ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง โดยใช้ช่องทางปั้นธุรกิจของคนวัยเก๋า ปลุกสีสันชีวิตคนให้คนชราให้ก้าวทันโลก เมื่อธุรกิจเดินได้ก็หมายถึงเงินหมุนเวียนหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง

จึงเป็นที่มาของการออกแบบโครงการนำร่องพัฒนาอาชีพให้ผู้สูงวัยผ่านหลักสูตร "โอกาสธุรกิจปลุกชีวิตสูงวัย สู่การเป็นบาริสต้ามืออาชีพ” ที่กระทรวงพาณิชย์ โดย "กุลณี อิศดิศัย" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ฉายภาพถึงที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจให้กับกลุ่มผู้สูงวัย เพราะเชื่อว่าเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความสามารถและสุขภาพยังแข็งแรง พร้อมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ จึงร่วมกับสถาบันนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และสถาบัน อโรม่า คอฟฟี่ อะคาเดมี่ (ACA -Aroma Coffee Academy)

การอบรมได้เชิญวิทยากรที่มีองค์ความรู้ด้านธุรกิจและพื้นฐานกาแฟ มาเสริมอาวุธครบมือ เพื่อส่งต่อเคล็ดวิชาการทำธุรกิจกาแฟ ตั้งแต่กลยุทธ์ทางการตลาด การวางแผนธุรกิจ การคัดเลือกซื้อวัตถุดิบให้มีคุณภาพ งานบริการ การจัดการความสะอาด การบริหารการจัดการ การตั้งราคา และขั้นตอนการชงกาแฟ อย่างมีศิลปะ มาตรฐาน รวมถึงเคล็ดลับต่างๆ ของธุรกิจกาแฟ

“การที่ผู้สูงวัยเลือกเปิดธุรกิจให้สำเร็จ ทำให้เกิดทักษะ สร้างรายได้ ลดการพึ่งพาภาครัฐ ช่วยสร้างความภาคภูมิใจและคุณค่าในตนเองยังสามารถทำงานและมีประโยชน์ในการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทย ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการ ยังช่วยกระตุ้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสูงของประเทศ” เขาเล่าถึงคุณค่าทั้งตัวเองและประเทศชาติ

สำหรับสถิติจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจบริการเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้านจำนวน 296 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 378.13 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทร้านกาแฟ ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่จะเริ่มแข่งขันเข้มข้น ร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จจึงต้องเพิ่มมูลค่าผ่านศิลปะ ลูกเล่นคุณค่าที่เติมในถ้วยกาแฟ มากกว่ารสชาติอร่อย

วรรณศรี โชติกะพุกกณะ  ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการเข้าไปเจาะกลุ่มคนผู้สูงวัยเพราะสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) กำลังจะกลายเป็นวิกฤติสำคัญที่ภาครัฐต้องดูแล จึงต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ให้คนสูงวัยสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง สังคมและประเทศชาติ ด้วยการสร้างธุรกิจสร้างอาชีพ

อาชีพบาริสต้าและร้านกาแฟ ธุรกิจที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเกี่ยวข้องมาก จึงมีโอกาสสร้างมูลค่าได้มีสูง และยังทำคนเดียวหรือทำกับครอบครัวได้ จึงเหมาะกับผู้สูงวัย เพราะตรงไลฟ์สไตล์ พวกเขามีความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ใจเย็น ทำให้กาแฟแต่ละแก้วเต็มไปด้วยคุณค่า

ในต่างประเทศโดยเฉพาะอิตาลี ต้นกำเนิดการชงกาแฟ บาริสต้าเก๋าๆ เจ๋งๆ ล้วนเป็นคนสูงวัยที่มากประสบการณ์ แตกต่างจากประเทศไทยที่เป็นวัยหนุ่ม”

เธอมองว่าบาริสต้าวัยเก๋า มีจุดแข็งที่เหนือกว่าคนหนุ่มตรงความใจใส่ ทุ่มเท รักในสิ่งที่ทำ ยินยอมที่จะอยู่กับสิ่งนั้นตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าตรู่ ส่วนคนหนุ่ม มักจะไม่ค่อยตื่นเช้า ขี้เบื่อเมื่ออยู่กับสิ่งใดนานๆ

“คนสูงวัยรักในสิ่งที่ทำ ใส่ใจ ตั้งใจ ทำต่อเนื่องอยู่ตลอดทั้งวัน นื่คือคุณค่าที่เติมในถ้วยกาแฟ ” 

โดยกรมพัฒนาธุรกิจได้ดึงเน็ตไอดอลผู้โด่งดังในโลกออนไลน์ มือชงวัยเก๋าวัย 74 ปี โซเชียลมิเดียขนานนามว่า อาม่าริสต้า” ชื่อจริง เพ็ญนภา เทพอารีย์” เจ้าของร้านกาแฟ แฮปปี้ เอสเพรสโซ่” (Happy Espresso) ร้านกาแฟย่านวงเวียน22 เปิดมากกว่า 12 ปี เจ้าของร้านกาแฟที่ไม่ปล่อยให้วัยเกษียณเป็นอุปสรรคในการเริ่มต้นธุรกิจ มาถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองให้กับคนวัยเดียวกันให้ลุกขึ้นมาทำอะไรดีมีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น

“อาม่าประสบความสำเร็จในธุรกิจกาแฟ เกิดจากความใส่ใจ จริงจัง ทุ่มเท ต่อเนื่องและรักในสิ่งที่ทำ โดยไม่ยอมปล่อยให้ชีวิตรื่นไหลไปตามกาลเวลา เป็นสิ่งสำคัญที่ปลุกให้คนวัยเกษียณหันมาลองทำธุรกิจเลี้ยงตัวเอง”

โดย อาม่าริสต้า เน็ทไอดอลของโลกออนไลน์ที่มีคนแชร์จำนวนมาก ถือว่าเป็นบาริสต้าผู้มีอายุมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ มองว่า ร้านกาแฟเป็นสิ่งที่ชอบ ที่รัก อยากทำ และเมื่อลูกหลานสนับสนุนลงทุนให้ ทุกอย่างจึงลงตัว ธุรกิจจึงเติบโตมาได้ ที่สำคัญอาม่า ไม่เคยเบื่อที่จะต้องตื่นเช้ามาเปิดร้านและชงกาแฟให้คนดื่ม ชีวิตในวัยเกษียณจึงมีคุณค่าอยู่กับสิ่งที่รัก และสร้างรายได้ให้ตัวเอง

“เราต้องรักและมีความสุขกับมัน โดยไม่เบื่อ แต่ละแก้วที่ชงด้วยความใส่ใจตั้งใจ เมื่อเห็นคนดื่มและมีความสุขเราก็ภูมิใจ”

ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้อำนวยการ อัมรินทร์ อะคาเดมี่ ( Amarin Academy) และผู้ประกอบการร้านอาหาร เพนเกวิน อีส ชาบู (Penguin Eat Shabu) ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้งและธุรกิจร้านอาหารมองว่า สิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเปิดร้านกาแฟ คือ บุคลิกของทำเลที่ตั้ง หากตั้งในย่านสำนักงานก็ต้องพร้อมเปิดในช่วงเช้า และเที่ยง เพื่อรองรับคนวัยทำงาน โดยช่วงเย็นเป็นช่วงปิด เพราะคนเร่งรีบกลับบ้าน นี่คือสิ่งที่ต้องศึกษา

นอกเหนือจากกาแฟ ที่ต้องทำให้อร่อยสิ่งที่ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟ คือบรรยากาศ และความสวยงามเพื่อทำให้คนกินรู้สึกถึงคุณค่าที่ได้รับมากกว่าดื่มรสชาติ

“รสชาติยังสัมผัสไม่ได้หากยังไม่ได้สั่ง แต่สิ่งที่สัมผัสได้ก่อนคือความสวยงามของสถานที่ บรรยากาศ ที่ทำให้คนถ่ายรูปอาหาร และเกิดการแชร์ต่อ เกิดการตามรอย โดยไม่ต้องเสียเงินโฆษณาหรือทำการตลาด บางร้านคนยอมซื้อกาแฟ เพื่อได้รับสิทธิ์ในการถ่ายรูปในร้าน”

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเดินธุรกิจมาได้ระดับหนึ่ง จะต้องทำให้ร้านเกิดมูลค่าและคุณค่าที่ลูกค้าพึงพอใจคือคำว่า “แบรนด์ดิ้ง” ที่ไม่ใช่โลโก้สวยๆ แต่แบรนด์คือทุกอย่างในร้านกาแฟ ที่สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าสัมผัสได้ ตั้งแต่บรรยากาศ การบริการ ความสะอาด ความสวยงาม ทำให้คนรู้สึกถึงคุณค่า การต้อนรับ พนักงานใส่เสื้อร้าน โลโก้ ทุกอย่างล้วนรวมกันเป็นแบรนดดิ้งที่ทำให้คนจดจำ

“ลูกค้าไม่ได้มองว่าสินค้าถูกหรือแพง ความคาดหวังของลูกค้าคือบริการ และการดูแลสถานที่ เค้ายอมจ่ายเงินที่สูงกว่าเพื่อแลกกับคุณค่าของประสบการณ์ผ่านอาหาร เจ้าของธุรกิจทุกคนจึงต้องยอมถอดหัวโขนอยู่ในร้านเป็นเพียงพนักงานเสิร์ฟที่คอยฟังลูกค้าถูกต้องเสมอ” กูรูด้านร้านอาหารทิ้งท้าย