สทนช. สนองพระราชดำริช่วยชาวเลย

สทนช. สนองพระราชดำริช่วยชาวเลย

สทนช. สนองพระราชดำริช่วยชาวเลย ผ่านโครงการประตูระบายน้ำ “ศรีสองรัก”

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ จ.เลย และเพชรบูรณ์ ในระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน ที่จะถึงนี้ หนึ่งในพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมนั้นคือโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และมีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นความตอนหนึ่งว่า

“...ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำ ตามความเหมาะสมในลําน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอําเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่างเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี...”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้น้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาขับเคลื่อน และผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งน้อมนําศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2562 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ โดยในจำนวน 9 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริถึง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลยนั้น ครม.มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2560 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ได้รับการอนุญาตใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งให้สร้างความเข้าใจและการยอมรับจากราษฎรที่ได้รับผลกระทบ และผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ เพื่อสามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่ตั้งไว้

เลขาธิการสทนช. เผยต่อว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภค รวมทั้งเพื่อบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และเพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดเลยในด้านพัฒนาการท่องเที่ยว และพัฒนาคน สังคม คุณภาพชีวิตทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน ซึ่งองค์ประกอบโครงการจะประกอบด้วย ประตูระบายน้ำศรีสองรัก (ช่องลัด) เป็นประตูระบายน้ำประเภทบานตรง กว้าง 15.00 เมตร สูง 13.20 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประตูระบายน้ำในลำน้ำเดิม คือแม่น้ำเลย เป็นประตูระบายน้ำประเภทบานตรง กว้าง 10.00 เมตร สูง 12.50 เมตร จำนวน 2 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมประตูเรือสัญจร (NAVIGATION LOCK) กว้าง 10 เมตร ยาว 77 เมตร

ส่วนอาคารควบคุมบานระบาย มีพื้นที่ใช้สอย 2,500 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ พื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการและห้องเครื่อง พื้นที่สำหรับห้องประชุมและสำนักงาน และพื้นที่สำหรับห้องควบคุม และระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำ จำนวน 5 สถานี และระบบท่อส่งน้ำความยาว รวมประมาณ 99 กิโลเมตร แยกเป็นฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำเลย ส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ทั้งโครงการ 72,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล คือ ต.เชียงคาน ต.ลนาว่าว ต.ปากตม ต.หาดทรายขาว ต.เขาแก้ว ต.จอมศรี และต.ธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี เริ่มตั้นแต่ปีงบประมาณ 2561-2566 ด้วยวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าสิ่งก่อสร้าง 4,262 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามแผนสิ่งแวดล้อม 250 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 106 ล้านบาท และอื่น ๆ 382 ล้านบาท

“โครงการนี้ก็เหมือนกับโครงการประตูระบายน้ำห้วยหลวงและน้ำก่ำ ซึ่งสร้างเพื่อป้องกันน้ำจากลำน้ำโขงไหลทะลักเข้ามาให้ฤดูฝนและใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งด้วย”

ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ นอกจากเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้ง 18,100 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบลของ อ.เชียงคาน แล้วยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และสามารถบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ อ.เชียงคาน จ.เลย อีกด้วย เนื่องจากประตูระบายน้ำมีการออกแบบให้มีรูปผีตาโขน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของ จ.เลย

FfxZ74GF-thumb

กว่าจะมาเป็นโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทาน(ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 ว่า ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี จากนั้นปี 2534 กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2535 และได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2540 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้พิจารณาเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ต่อมาในปี 2556 กรมชลประทานก็ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเลยตอนล่าง ซึ่งดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาวางโครงการ (Pre-Feasibility) แล้วเสร็จในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ต่อมาในปี 2558 กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดิน หัวงานและอาคารประกอบโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลยแล้วเสร็จเมื่อกันยายน 2558

ส่วนเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีโครงการดังกล่าวก็เพราะว่าเนื่องจากลุ่มน้ำเลยช่วงต้นน้ำลักษณะเป็นภูเขา ลำน้ำมีความลาดชันสูง เมื่อมีปริมาณน้ำหลากในฤดูฝนจะมาเร็วและแรง ช่วงตอนกลางของแม่น้ำเลยบริเวณอำเภอเมืองเลยความลาดชัดของลำน้ำน้อย และตอนล่างของแม่น้ำเลยก่อนถึงบริเวณปากแม่น้ำโขงลำน้ำ มีลักษณะคดเคี้ยว ประกอบกับช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปีระดับน้ำของแม่น้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำเลยเพิ่มสูงขึ้นและไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำเลยเป็นระยะทาง 20-30 กม. ทำให้ จ.เลย และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเลยถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย

รวมถึงปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณาก่อสร้างอาคารชลประทานที่ใช้ควบคุมการระบายน้ำและส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเลยตอนล่าง จนกระทั่งกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเลยตอนล่างดังกล่าว