เล็งถก5ประเด็น! รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย

เล็งถก5ประเด็น! รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย

กลุ่มมหาวิทยาลัยอีสาน เตรียมศึกษาวิจัยผลกระทบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระบุ 5 ประเด็น ก่อนเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐบาล หวังนำไปวางแผนใช้ประโยชน์ จัดเตรียมมาตรการรับรองในอนาคต

นายวิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)นครราชสีมา เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับมรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.อุดรธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จัดเวทีเสวนาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมีนายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน, พล.ท.อานุภาพ สมาชิกสภานิติบัณฑิตแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมนั้น

ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย ตามนโยบายรัฐบาลที่ทำความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพหนองคาย ระยะทาง 837 กิโลเมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน บริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่

ทั้งนี้ สำหรับ การศึกษาวิจัย ผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย ได้มีการกำหนดกรอบการวิจัยออกมา5 ประเด็นหลัก คือ1.สถานภาพปัจจุบัน (Existing Condition) ของพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณโดยรอบสถานี 2. ผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป3. ผลกระทบด้านการค้าการลงทุน4. ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและบริการ และ5.ผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากร โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดและอำเภอตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ทั้งการสอบถาม สัมภาษณ์ จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม รวมทั้งจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น เพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวม พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และจัดเตรียมมาตรการรับรองผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป