ติดตาม Hackathon ล่าสุดแกะ 5 โจทย์เทคโนโลยีส่งต่อภาคธุรกิจ

ติดตาม Hackathon ล่าสุดแกะ 5 โจทย์เทคโนโลยีส่งต่อภาคธุรกิจ

เวที Hackathon ล่าสุด 7 วัน 7 คืนในช่วง ต.ค.นี้ ทีมนักศึกษา 5 ประเทศรวม 152 คนระดมสมองตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจเอกชน เน้นผลลัพธ์ใช้งานได้จริง มีทั้ง แชตบอตเอไอ เพื่อธุรกรรมทางการเงิน จนถึงเทคโนฯโลกเสมือนจริงเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว

สจล. จับมือ สถาบันดังในต่างประเทศด้านวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดงาน ไอ เอส ที เอส 2018 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการเรียนการสอน จุดพลุการเรียนการสอนแบบใหม่ ใช้โจทย์งานจากจริงเป็นบทเรียน


สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติญี่ปุ่น (KOSEN) จัดทัพนักศึกษาเข้าร่วมงาน ไอ เอส ที เอส 2018 ค้นหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดใช้งานในชีวิตจริง โดยมีหน่วยงานเอกชนในประเทศไทย ได้แก่ กรุงไทย, พีทีที ดิจิตอล, เอดับบิลเอส (AWS), ออโตเดสก์ (AutoDesk) และ เรือเร็วลมพระยา ร่วมให้โจทย์ในกิจกรรม ISTS 2018 เป็นการรับโจทย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ประกอบการ เพื่อให้ทีมนักศึกษาได้ระดมสมองคิดค้นและประดิษฐ์นวัตกรรม ที่สามารถแก้ปัญหาหรือใช้งานได้จริงกันแบบ-มาราธอน 7 วัน 7 คืน วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อฝึกการใช้ทักษะทางวิศวกรรม การออกแบบและธุรกิจในการแก้ปัญหาโจทย์จากธุรกิจจริง ทั้งยังฝึกภาวะความเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันเป็นทีม


รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สจล. กล่าวว่า ผู้เข้าแข่งขันมาจากการสมัครเข้ามา ในหนึ่งทีมประกอบไปด้วย นักศึกษาที่มาจากต่างสาขากัน อาทิ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ การตลาด สถาปนิก การจัดทีมจะคละสาขาที่ต่างกัน คละประเทศ โจทย์ที่ได้รับและภูมิหลังทางด้านการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการจัดทีม นักศึกษาที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ 1 ญี่ปุ่น 54 คน 2 สิงคโปร์ 16 คน 3. ฮ่องกง 20 คน 4. อินโดนีเซีย 12 คน 5. ไทย 50 คน รวมทั้งหมดมีนักศึกษาในการแข่งขันครั้งนี้ 152 คน แบ่งเป็นทั้งหมด 30 ทีม ทีมละ 5-6 คน การให้โจทย์จะเน้นในหัวข้อ 5 ด้านจาก Sustainability Development Goals (SDGs) ตามนโยบายของ องค์การสหประชาชาติที่ได้ให้ไว้ และหัวข้อในการให้โจทย์ของนักศึกษาจะคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ทางด้านนวัตกรรม การดูแลสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ การท่องเที่ยว และอื่น ๆ


โจทย์ที่ได้มาจากทั้ง 5 บริษัทที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ 1. โจทย์จากธนาคารกรุงไทยในการประยุกต์ใช้ Chat Bot และปัญญาประดิษฐ์มาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน 2. โจทย์จาก AWS เป็นการนำระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้วิถีการดำเนินงานของคนในบ้านมีความสะดวกสบายมากขึ้น 3. โจทย์จากพีทีทีดิจิตอล เป็นการนำโดรนมาทำงานร่วมกับมนุษย์สำรวจเมืองอัจฉริยะเพื่อเพิ่มเติมความสะดวกสบายและความปลอดภัยในเมืองอัจฉริยะ 4. โจทย์จากเรือเร็วลมลมพระยา ในการทำเทคโนโลยี AR/VR มาช่วยสร้างมูลค่าและความปลอดภัยในธุรกิจการท่องเที่ยว 5. โจทย์จาก AutoDesk ในการสร้างระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ


ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของธนาคารในการก้าวสู่ธนาคารแห่งอนาคต หรือ Future Banking และเป็นโอกาสที่ธนาคารจะได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ในการส่งเสริมและสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้านไอทีในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งจะเป็นที่ต้องการในภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเป็นช่องทางในการเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพเพื่อมาทำงานร่วมกับธนาคารต่อไป

การแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นในรูปแบบ แฮคคาธอน (Hackathon) ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะได้แข่งขันในสถานการณ์ที่เสมือนชีวิตการทำงานจริงในการวางแผนการจัดการเวลา การทำงานเป็นทีม ปรับเปลี่ยนคิดค้นแก้ปัญหา หรือ Hack ปัญหา อย่างติดต่อกันแบบมาราธอน Marathon เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยในการแข่งขันจะมีผู้เชี่ยวชาญจาก Krungthai Innovation Lab ของธนาคารมาเป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำเชิงเทคนิคแก่ทีมผู้เข้าแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี Thai Optical Characer Recognition (Thai-OCR) หรือระบบการประมวลผลข้อความและจัดเก็บข้อมูลเอกสารภาษาไทย และในการพัฒนาเทคโนโลยี AI Chatbot หรือระบบสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติ ที่จะสามารถนำมาประยุกต์กับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของธนาคาร โดยเฉพาะกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ให้รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด นำมาซึ่งการให้บริการที่เป็นเลิศและตอบโจทย์ลูกค้าประชาชนในยุคดิจิตอล 4.0 ต่อไป


รางวัลสำหรับการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และยังมีบุคคลอื่นๆ ที่ได้มอบถ้วยรางวัลมาให้ในครั้งนี้ อาทิ พลเอกสุรยุทธ จุลลานนท์ องคมนตรี มอบถ้วยรางวัลในด้านความเป็นไปได้ทางการตลาดมากที่สุด สถาบัน KOSEN มอบถ้วยรางวัลในด้านการใช้ศาสตร์ที่ล้ำสมัยที่สุด ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มอบถ้วยรางวัลในด้านนวัตกรรมสุดล้ำ และถ้วยรางวัลอื่นๆ กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคม 2561 โรงแรม เอวัน พัทยา ชลบุรี หรือติดต่อได้ที่ http://ists2018.kmitl.ac.th