วิทย์พันธุกรรม สร้างการแพทย์เฉพาะคน

วิทย์พันธุกรรม สร้างการแพทย์เฉพาะคน

ชุดตรวจอาหารหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ระบบแพทย์ทางไกลที่ใช้ IoT มาเชื่อมโยงแพทย์กับคนไข้โดยไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันที่โรงพยาบาล ชี้ให้เห็นเทรนด์เทคโนโลยีขั้นสูงที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง

เป็นเพียงตัวอย่างความก้าวหน้าทางด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ “ทีเซลส์” นำมาเรียกน้ำย่อยในการประชุม Bio Investment Asia 2018

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ จัดการประชุมและนิทรรศการดังกล่าว นำเสนอความร่วมมือของประเทศไทยกับนานาชาติเพื่อผลักดันการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ในการประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กับสตาร์ทอัพสายสุขภาพได้นำเสนอผลงานจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับกลุ่มนักลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าสู่ตลาดและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก

การแพทย์มุ่งตรงสู่ผู้บริโภค

ชุดตรวจยีนเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่รักสุขภาพหรือรักสวยรักงาม สามารถนำข้อมูลไปเลือกหาอาหารหรือผลิตภัณฑ์ความงามที่เหมาะกับคนๆ นั้น ศ.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของบริษัทออริยีน (ORIG3N) กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในสหรัฐสามารถซื้อหามาตรวจและรับผลการวิเคราะห์ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ

“ชุดตรวจเหล่านั้นจะเป็นการตรวจเพื่อให้กินอาหารที่เหมาะสม ทาครีมที่เหมาะสมกับคนๆ นั้น ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของการรักษา ซึ่งเป็นการตอบเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ผู้บริโภคสามารถใช้ได้เลย”

นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้การแพทย์ด้านเภสัชพันธุศาสตร์กับ IoT ในธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไทยทำแล้วคือ See Doctor Now แอพพลิเคชั่นการแพทย์ทางไกลที่ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพบกันได้ผ่านวีดิโอคอลล์ โดยที่หากต้องตรวจเลือดหรือสิ่งส่งตรวจต่างๆ ก็จะมีบริการไปเจาะเลือดหรือรับสิ่งส่งตรวจไปส่งห้องปฏิบัติการ และส่งผลไปยังแพทย์ก่อนรับคำปรึกษา

“เทคโนโลยีที่จะตอบเทรนด์ของโลกที่มุ่งเรื่องของสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุจะต้องเกี่ยวเนื่องกับ 3 อย่างคือ อุปกรณ์ที่ช่วยดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน (Sensor Everywhere), นวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุ และการแพทย์แม่นยำ ซึ่งสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ต่างจากการแพทย์แม่นยำของ นายบารัค โอบาม่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มุ่งเน้นโรคร้าย เช่น มะเร็ง”

การแพทย์แม่นยำของไทยจะมุ่ง 2 ส่วนคือ บริการในโรงพยาบาลระดับไฮเอนด์ และการแพทย์แม่นยำในระบบประกันสุขภาพสำหรับระดับกลาง-ล่าง ที่ดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เช่น การตรวจยีน HLA ลดความเสี่ยงผู้ป่วยโรคลมชัก เป็นต้น

เปิดโอกาสของธุรกิจใหม่

ธุรกิจนวัตกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ข้างต้นจะถูกนำเสนอในการประชุมไบโออินเวสต์เมนท์ฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Thailand International Lab 2018 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.นี้ ที่ไบเทค บางนา

นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการทีเซลส์ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการแสวงหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับในประเทศไทยอุตสาหกรรมนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของบริการทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศ

ในงานประชุมมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น แนวทางยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยด้วยเทคนิค HPTLC, การแลกเปลี่ยนมุมมองนวัตกรรมด้านการแพทย์จีโนมและ IoT เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจชีววิทยาศาสตร์, การนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรค และการขึ้นทะเบียนเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

การจัดประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ ในการนำเสนอนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ในเวทีระดับนานาชาติ นำไปสู่การพัฒนาด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดผลในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจอย่างครบวงจร จึงเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ชาติในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ต่อไป