ย้อนกาลเก่าบ้านแห่งแรก‘สมเด็จย่า’

ย้อนกาลเก่าบ้านแห่งแรก‘สมเด็จย่า’

บ้านเช่า ที่เช่าเพียงกำแพง ผนังและหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ผู้เช่านำมาเอง....ที่คือที่ประทับแห่งแรกของสมเด็จย่า

........................

หากใครไม่เคยไปเที่ยว อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ย่านคลองสาน อยากให้ลองไปชมสักครั้ง 

หลายสิบปีที่แล้ว ก่อนในหลวง รัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชกระแสให้หา “บ้าน” ที่ประทับแห่งแรกที่สมเด็จย่าทรงจำความได้ เนื่องจากทรงผูกพันกับชุมชน และโรงเรียนในเขตวัดอนงคาราม สถานศึกษาแห่งแรกของพระองค์

จากนั้นให้มีการสร้างบ้านจำลองสมเด็จย่าในอุทยานดังกล่าว 

เมื่อไม่นานนี้ ทางบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือKTC จัดกิจกรรมย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม ช่วงรัชกาลที่ 4 โดยพาไปเยือนสถานที่สำคัญทาง

ประวัติศาสตร์

หนึ่งในสถานที่ที่พาชม ก็คือ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

หากย้อนไป 100 ปีที่แล้ว สถานที่แห่งนี้เคยเป็นบ้าน ที่ประทับแห่งแรกที่สมเด็จย่าทรงจำความได้ ซึ่งในยุคหนึ่งเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีพระคลังสินค้าเคยครอบครอง กระทั่งที่ดินแถวนั้นตกอยู่ในมือตระกูลนานา

ครั้นเมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้หา“บ้าน” ของสมเด็จพระบรมราชชนนี ทางแดง นานา และเล็ก นานา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก็ได้ถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ สร้างเป็นอุทยานดังกล่าว

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีทั้งส่วนที่อนุรักษ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ และพัฒนาพื้นที่เหลือให้เป็นสวนสาธารณะของชุมชน จึงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และพรรณไม้นานาชนิด เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้ รวมถึงเป็นแหล่งจัดกิจกรรมฝึกอาชีพและศิลปะกลางสวนสำหรับเด็กและเยาวชน 

ส่วนสถานที่หลักที่พาไปชม ก็คือ บ้านจำลองสมเด็จย่า

ในหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บันทึกไว้ว่า 

“เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ “บ้าน” นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียว แต่มีหลายห้อง แทนที่จะเป็นห้องเดียว “บ้าน”จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้อง และประกอบด้วยหลายชุด ด้านหนึ่งของบ้าน มี 4-5 ชุด ซึ่งมีคนอยู่อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง “บ้าน” ที่อยู่นั้นเก่าและอยู่ในสภาพไม่ดี เพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย บ้านนั้นเป็นบ้านเช่า แต่เช่าเพียงกำแพง ผนังและหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้นั้นผู้เช่านำมาเอง”

บ้านจำลองของสมเด็จย่า ในอุทยานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เห็นความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมครั้งสมเด็จย่าทรงพระเยาว์

“ที่บ้านจำลองของสมเด็จย่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกประทับอยู่สองชั่วโมง ครั้งหลังหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ  และเคยตรัสว่า เป็นหนึ่งชั่วโมงที่มีค่ามาก” ต้อย เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าและบอกว่า 

"ตอนที่กรมศิลปากร ทำโมเดลบ้านจำลองถวายให้สมเด็จย่าทอดพระเนตร เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ตรัสว่า "ที่อยู่ฉันไม่ได้หรูหราขนาดนั้น" จึงต้องปรับแบบให้มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด ให้จำลองแบบบ้านเช่าหนึ่งหลัง เป็นห้องแถวชั้นเดียว มีหลายห้อง ข้างๆ บ้านสมเด็จย่าเป็นร้านชำ มีหนังสือให้เช่าอ่าน สมเด็จย่าเช่าอ่านบ่อยมาก จนเจ้าของร้านไม่คิดสตางค์ เพราะเห็นว่า มีนิสัยรักการอ่าน สมเด็จย่าเป็นผู้หญิงที่โชคดีมาก เพราะสมัยนั้น ผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ แต่สมเด็จย่ารู้หนังสือ เนื่องจากได้เรียนที่โรงเรียนในวัดอนงคาราม และมักจะใช้เวลากลางคืนอ่านหนังสือ โดยใช้ตะเกียงกระป๋องนม”

บ้านจำลองสมเด็จย่า แบ่งซอยออกเป็นส่วนต่างๆ มีห้องพระ ห้องนอน และห้องทำทองของพระชนกชู  

“ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้นอาบกันที่หน้าบ้าน ตุ่มน้ำตั้งอยู่ที่ระเบียงหรือไปอาบที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา ถึงแม่จะว่ายน้ำไม่เป็น ก็ชอบเล่นน้ำคลอง...” จากบันทึก แม่เล่าให้ฟัง

เจ้าหน้าที่อุทยาน เล่าต่อว่า ปัจจุบันซอยช่างทอง สภาพซอยเปลี่ยนไปมาก แทบจะหาซอยไม่เจอแล้ว ส่วนซอยช่างนาค ยังพอจับพิกัดที่ตั้งได้ คนที่จำชุมชนเก่าแก่สมัยสมเด็จย่าได้ คงต้องมีอายุร้อยปีขึ้นไป "

ว่ากันว่าสมเด็จย่า ทรงเล่าให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ฟังอยู่เนื่องๆ ว่า “สภาพบ้านแม่เป็นยังไง”

ด้วยเหตุนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้คณะสำรวจไปดูว่า บ้านสมเด็จย่าเมื่อทรงพระเยาว์อยู่ตรงไหน

ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ นอกจากความเขียวชอุ่มของต้นไม้ ยังมีร่องรอยสถาปัตยกรรมแบบจีน ที่เรียกว่า ทิมบริวาร เคยเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ผนังด้านในทึบ มีช่องแสงตอนบน กั้นแบ่งห้องเป็นสองห้อง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  เคยเป็นที่อยู่อาศัยของข้าทาสบริวารเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี  ในสมัยรัชกาลที่ 5 

ปัจจุบันเหลือแต่ซากก่ออิฐถือปูน

      สำหรับคนที่อยากเยี่ยมชม ติดต่อได้ที่เบอร์ 02 437 7799 และ 02 439 0902