สทนช.เร่งคลอดแผนป้อง ‘น้ำท่วม’

สทนช.เร่งคลอดแผนป้อง ‘น้ำท่วม’

ด้วยพระบารมี...นครศรีฯ พ้นวิกฤติ สทนช.เร่งคลอดแผนป้อง “น้ำท่วม”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของราษฎร จึงมีพระราชกระแสให้ติดตามขับเคลื่อน และเร่งรัด รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรค การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ บังเกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎร และเพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำเร็จตามวัตถุประสงค์

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นส่วนราชการใหม่ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 46/2560 ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบให้เอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 30 หน่วยงานในปัจจุบัน โดยจะทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้น้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาขับเคลื่อน และผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งน้อมนําศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยในปีงบระมาณ 2562 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้กนช. ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ โดยในจำนวน 9 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริิถึง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ

สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ถือเป็น 1 ใน 4 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี พล.ท.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ นายจริย์ ตุลยานนท์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการ กปร.ในขณะนั้น เข้าเฝ้าฯ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคใต้ ดังความตอนหนึ่งว่า...

“เนื่องจากน้ำจำนวนมากจากคลองท่าดีมักจะรวมกับน้ำหลากจากคลองเสาธง ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่เคียงข้าง เมื่อไหลบ่าลงสู่ทะเลพร้อมๆ กัน จะทำให้เกิดน้ำท่วมตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างรุนแรง ดังเช่นอุทกภัยที่เกิดกับตัวเมืองเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ที่ผ่านมา สมควรพิจารณาขุดลอกลำน้ำที่ผ่านตัวเมืองให้ลึกพร้อมกับขยายลำน้ำเหล่านั้นให้มีความกว้างมากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาขุดทางระบายน้ำใหม่เพิ่มอีกตามความเหมาะสม ก็จะช่วยระบายน้ำที่ไหลลงมายังตัวเมืองให้ผ่านลงสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น...”

ทว่าเนื่องจากพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเมืองที่มีราษฎรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และมีลักษณะพื้นที่ทอดยาวขวางทิศทางการไหลในแนวทิศเหนือ–ใต้ เมื่อเกิดฝนตกหนักในบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราชจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเข้าตัวเมืองมาก ประกอบกับชุมชนเมืองมีการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการบุกรุกแนวเขตคลองธรรมชาติ ส่งผลให้คลองธรรมชาติมีขนาดเล็กลงและตื้นเขิน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการระบายน้ำออกสู่ทะเล ทำให้พื้นที่เขตเทศบาลนครศรีธรรมราช และบริเวณใกล้เคียงเกิดปัญหาอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

จากการศึกษาทางอุทกวิทยาพบว่า น้ำที่ท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราชมาจากคลองท่าดี ซึ่งคลองท่าดีจะไหลไปลงคลองต่างๆ และออกทะเลที่คลองท่าซัก และคลองปากนคร ซึ่งทั้ง 2 คลองนี้ มีความสามารถระบายน้ำรวมกันได้ 268 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ น้ำในคลองท่าดีที่รอบปีการเกิดซ้ำ 25 ปี มีปริมาณน้ำ 750 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมากกว่าความสามารถของคลองท่าดีที่ระบายน้ำได้เพียง 100 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้เกิดอุทกภัยขึ้นทุกปี ดังนั้น จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้สามารถเร่งการระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้ในอัตรา 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จะเห็นว่าจากการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือกันและมีมติเห็นควรใช้ระบบคลองส่งน้ำควบคู่กับการระบายน้ำเพื่อผันน้ำไม่ให้เข้าเมืองขุดขยายคลอง–ขุดลอกคลองเดิม ตามแผนที่เคยศึกษาไว้เดิม และให้ศึกษาทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอย่างเป็นระบบ ซึ่งกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการทบทวนรายงานการศึกษาและแบบรายละเอียดในปี 2555 เพื่อพิจารณาแนวทางเลือกในการก่อสร้างคลองในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้ 750 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยการศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2559 และการสำรวจ–ออกแบบแล้วเสร็จในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (ปี ‭2561-2563‬) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 วงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 9,580 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการในด้านต่างๆ หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีหนังสือที่ กษ ‭0303/138‬ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 ถึงสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติงบกลางปี 2561 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งบประมาณ ‭985.0384‬ ล้านบาท พร้อมทำการประชาสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ ทั้งนี้หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับเกษตรกรรมริมฝั่งคลองระบายน้ำ รวมทั้งสามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในบริเวณพื้นที่โครงการในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย

กรมชลฯเร่ง 3 โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ

ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้นำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจะเร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทุกโครงการนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีกด้วย

สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยงานสำคัญๆ คือ การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จำนวน 3 สาย สามารถระบายน้ำได้ 650-750 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับปรับคลองวังวัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำเป็น 850 ลบ.ม.ต่อวินาที และปรับปรุงคลองหัวตรุด ให้สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุม 12 ตำบล มีประชาชนได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,580 ล้านบาท

ส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการดำเนินงานแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งระบบลุ่มน้ำ โดยการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ โดยปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่เดิม จำนวน 3 แห่ง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 2 แห่ง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนที่จะไหลเข้าพื้นที่อำเภอบางสะพาน โดยจะเริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง ความจุ 13.29 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอยตอนล่าง ความจุ 17.46 ล้าน ลบ.ม. ในปีงบประมาณ 2564

และโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยการก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย D1 บริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชร เพื่อตัดยอดน้ำก่อนที่จะไหลผ่านเขื่อนเพชร ให้ระบายออกสู่ทะเลในอัตรา 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเพชรลดน้อยลง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564 เช่นเดียวกัน