ตะวันขึ้นที่ “ท่าเรือ” โอกาสทอง“หุ้นขนส่งทางทะเล”

ตะวันขึ้นที่ “ท่าเรือ” โอกาสทอง“หุ้นขนส่งทางทะเล”

เมื่อข้อจำกัดของภาวะเศรษฐกิจ“ถูกกำจัด”จากการค้าโลกกลับมาสดใส หนึ่งในธุรกิจ“ดาวเด่น” ต้องยกให้ “กลุ่มธุรกิจเดินเรือ” หลังค่าระวางเรือเข้าสู่“ยุคขาขึ้น”4บิ๊กเอกชน ใส่เกียร์ เร่งผลักดันรายได้กลับมา“เทิร์นอะราวด์”

ดัชนีค่าระวางเรือหรือ Baltic Dry Index (BDI) กำลังเดินเข้าสู่ ยุคขาขึ้น” อีกครา...!!  หลังอยู่ในภาวะซึมเซาตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสในปี 2551

โดยปัจจุบันดัชนีค่าระวางเรือเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ 1,774 จุด ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2561 ปรับขึ้นจากปี 2560 ที่ดัชนีค่าระวางเรืออยู่ที่ 953 จุดท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจน กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา

โดยหนึ่งในธุรกิจ ดาวรุ่ง” ที่กลับมาสร้างรอยยิ้มอีกครั้งคือ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ” ซึ่งผลประกอบการเริ่ม เทิร์นอะราวด์...!!

สะท้อนผ่านผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดินเรือที่จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ในช่วงปี 2558- ไตรมาสสองปี 2561 พบว่า ทยอยฟื้นตัวมี กำไรสุทธิ” อาทิ บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA อยู่ที่ -11,335.10 ล้านบาท , -418.29 ล้านบาท , 588.36 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 102.38 ล้านบาท ,บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL อยู่ที่ -2,425.78 ล้านบาท , -2,664.90 ล้านบาท ,-129.48 ล้านบาท และไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 199.60 ล้านบาท

บมจ. เอเชียน มารีนเซอร์วิสส์ หรือ ASIMARอยู่ที่ 90.18 ล้านบาท , 48.37 ล้านบาท , 81.57 ล้านบาท และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 14.35 ล้านบาท ,บมจ. พริมา มารีนหรือ PRM อยู่ที่ 831.20 ล้านบาท 1,202.20 ล้านบาท , 717.93 ล้านบาท และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 339.67 ล้านบาท ตามลำดับ

สอดคล้องกับมูลค่าการ ส่งออก” ของไทย ในเดือนก.ค.2561 มีมูลค่า 20,424 ล้านดอลาร์ ขยายตัว 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17  ส่วนการส่งออก 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.- ก.ค.) มีมูลค่า 146,236 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.6% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี

ขณะที่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม” (MPI) เดือนก.ค.2561 ขยายตัว 4.64% อยู่ที่ระดับ 112.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 107.61 ซึ่งขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ขณะที่ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.2561) ขยายตัว 4.0% อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.ค. อยู่ที่ 67.23%

ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ประเมินว่า ค่าระวางเรือในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2561 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาสงครามการค้ายังไม่ส่งผลกระทบชัดเจน แต่ไทยต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ เช่นกัน

เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA เปิดเผยว่า ในกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ(กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง) แนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยมองว่า ดัชนีค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงปีหน้า จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1,735 จุด เนื่องจากความต้องการด้านการขนส่งทางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันกองเรือในตลาดยังมีจำกัด ซึ่งมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่กลุ่มธุรกิจเป็นเจ้าของอยู่ในระดับสูงที่ 100% รวมถึงมีการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการซื้อเรือใหม่เพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันที่มีเรือทั้งสิ้น 21 ลำ โดยปีนี้มีแผนซื้อเรือ 2 ลำ และขายออกจำนวน 2 ลำ

อัตราเติบโตของกองเรือทั้งโลกที่จำกัด และปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการแร่ธาตุเหล็ก และสินค้าเทกองย่อยอื่นๆ

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (เมอร์เมด มาริไทม์) ปัจจุบันมีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบ (Backlog) อยู่ที่ 165 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้เกือบ 40% ขณะเดียวกันจะไม่นำเรือเข้าซ่อมในช่วงที่เหลือของปี อีกทั้งบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทที่ให้บริการนอกชายฝั่งในอ่าวไทย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ด้านกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรในครึ่งปีหลังนี้ “เฉลิมชัย” คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ เป็นไปตามปริมาณการขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังให้บริการพื้นที่เช่าโรงงาน โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โรงงานให้เช่าอยู่ที่ 100% ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อรายได้จากการให้เช่าพื้นที่โรงงานเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มการลงทุนอื่น ๆ แบ่งเป็น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีสาขา“พิซซ่าฮัท” แล้วจำนวน 121 สาขา และเตรียมเปิดสาขาทาโก้เบลล์ (Taco Bell) ซึ่งเป็นร้านอาหารเม็กซิกัน เป็นสาขาแรกในปลายปีนี้จำนวน 1 สาขา

ส่วน ธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์ ล่าสุด บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 80% ของบริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์แมเนจเม้นท์ (AIM) โดยมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะไปได้ดีในอนาคต โดยเตรียมเข้าประมูลงานของการประปานครหลวง ในโครงการมหาสวัสดิ์ มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเปิดประมูลงานดังกล่าวได้ในปี 2562

เฉลิมชัย บอกอีกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1,500 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาใช้ไปแล้วราว 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อเรือ 900 ล้านบาท และการลงทุนเข้าซื้อหุ้นใน AIM จำนวน 200 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต

“ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ราว 16,000-18,000 ล้านบาท เติบโต 10-15% จากปีก่อน หลังครึ่งปีแรกมีรายได้แล้ว 6,500 ล้านบาท มองแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้น่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของทุกธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ,ธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ,ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารทรัพยากรน้ำ และโลจิสติกส์”

สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียน มารีนเซอร์วิสส์ หรือ ASIMAR เล่าให้ฟังว่า สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางเรือเริ่มฟื้นตัวแล้ว สัมผัสได้จากภาพที่นั่งทำงานอยู่ เห็นความถี่ของเรือวิ่งเข้าวิ่งออกท่าเรือมากขึ้น โดยเฉพาะในท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)โดยเห็นสัญญาณตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาปีนี้ด้วยซึ่งเป็นตามทิศทางตัวเลขส่งออกเมืองไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปกติอุตสาหกรรมต่อเรือตลาดไม่เติบโตหวือหวา ยิ่งเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวผู้ประกอบการจะไม่ค่อยต่อเรือใหม่ แต่จะใช้วิธีซ่อมเรือเก่าทดแทน สถานการณ์เป็นลักษณะนี้มาร่วมๆ 3 ปีแล้ว

ทว่า ในปัจจุบัน ลูกค้าเริ่มมีแผนที่จะ ปลุกเรือ” ยิ่งเฉพาะเรือ Off shore ออกมาใช้งานมากขึ้น จากเดิมที่จอดเรือทิ้งไว้เฉยๆ

สถานการณ์จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวมากขึ้น จากเรือที่จอดนิ่งก็จะถูกนำออกมาใช้งานมากขึ้น และคาดว่าอีกราว 1 ปี น่าจะเริ่มมีคำสั่งต่อเรือลำใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น หากราคาน้ำมันขยับมาอยู่ระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นไป

ขณะที่ธุรกิจซ่อมเรือตลาดเติบโตตลอดแม้เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เพราะผู้ประกอบการต้องซ่อมเรือตามที่กฎหมาย เพียงแต่ว่าช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเอกชนมีเงินน้อยมูลค่าการซ่อมเรือต่อลำก็จะลดลง หากเศรษฐกิจดีๆ มูลค่าซ่อมเรือต่อลำสูง ยกตัวอย่าง ถ้าซ่อมเรือธรรมดา มูลค่าต่อลำอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่หากซ่อมมากจะอยู่ที่ 10-15 ล้านบาทต่อลำ “สุรเดช” ให้ข้อมูล

ท่าเรือแหลมฉบังคึกคัก ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าอุตสาหกรรมขนส่งเริ่มฟื้นตัว มีการใช้เรือถี่ขึ้น

สอดคล้องกับแผนการขยายตลาดในต่างประเทศในธุรกิจซ่อมเรือ อาทิ เกาหลี ,มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน ซึ่งบริษัทจับกลุ่มลูกค้าที่เส้นทางขนส่งเข้าในประเทศไทย โดยนำสินค้าเข้ามาส่งก่อนกลับก็นำเรือมาซ่อมกับบริษัทก่อน ปัจจุบันมีเรือสัญชาติเกาหลี และไต้หวัน เข้ามาซ่อมแล้ว และลูกค้าสิงคโปร์ ที่มีการซ่อมเรือ Off shore

สำหรับ ปีที่แล้วมีลูกค้าต่างชาติมาซ่อมเรือแล้ว 5 ลำ ในปีนี้ตั้งเป้ามีลูกค้า 6-7 ลำ โดยมีมูลค่างานตั้งแต่ 5-15 ล้านบาท ใช้เวลาซ่อมประมาณ 10-15 วัน ซึ่งมูลค่าซ่อมเรือต่อลำลูกค้าต่างชาติจะสูงกว่าในประเทศประมาณ 5%

วางเป้าหมายเติบโต ไม่ต่ำกว่า 10-15%” ปัจจุบันบริษัทมีโครงสร้างรายได้3 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจต่อเรือ-ธุรกิจซ่อมเรือ-ธุรกิจโครงสร้างเหล็กคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 35% ,60% และ 5% ตามลำดับ

คาลิด มอยนูดดิน ฮาชิมกรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSLประกอบธุรกิจเดินเรือโดยเป็นเจ้าของเรือเอนกประสงค์ขนาดเล็กสำหรับขนส่งสินค้าแห้งเทกองแบบไม่ประจำเส้นทาง เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์รายได้ปี 61 จะเติบโตดีกว่าปีก่อน ที่ทำได้ระดับ 4,412.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) จากความต้องการใช้เรือเทกองในประเทศจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มมีการฟื้นตัว จึงคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มเป็น 4% โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย และยุโรป รวมไปถึงรัสเซีย โดยเชื่อว่าหากไม่มีปัจจัยลบใหม่ๆ เข้ามา เศรษฐกิจในทุกประเทศจะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีการค้าขายและการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เช่นเดียวกับ “ชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน หรือ PRM ที่คาดว่าราวปี 2563 ธุรกิจเรือขนส่งทางทะเลจะฟื้นตัวชัดเจน จากปัจจุบันเริ่มทยอยผงกหัว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก เนื่องจากค่าขนส่งในต่างประเทศปรับตัวขึ้นมาไม่ถึง 10% ถือเป็นการปรับขึ้นมาต่ำกว่าค่าขนส่งที่ควรจะเป็น

ยกตัวอย่าง เรือขนส่งทางทะเลลำนี้เดิมมีค่าขนส่งอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ตอนนี้ค่าขนส่งอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ต่อวัน หากเทียบกับสมัยที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองค่าขนส่งอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ค่าขนส่งทางเรือปรับราคาขึ้นไปเท่าเดิม ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐาน 1.ปริมาณค่าขนส่งน้ำมันต้องมีจำนวนมากกว่าเดิม และ2.ปริมาณเรือที่มีอยู่ในบริเวณนั้นๆ มีจำนวนน้อย

ปัจจุบันบริษัทยังวางงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเรือเข้ามาเพิ่มเติม ในปีนี้บริษัทจะรับเรือลำใหม่เข้ามาประกอบด้วย เรือเคมีภัณฑ์จำนวน 2 ลำ เรือน้ำมันขนาด 3,000 ตัน จำนวน 1 ลำ ขณะที่ปีหน้าบริษัทมีการสั่งต่อเรือไว้ด้วย และจะมีการรับเรือน้ำมันขนาด 3,000 ตัน อีกจำนวน 4 ลำ

สำหรับ ปี 2561 บริษัทตั้งเป้าเติบโต “ไม่ต่ำกว่า 10%” จากปีก่อน จากการปรับพอร์ตการดำเนินงานของบริษัท โดยในธุรกิจขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) ได้มีการจำหน่ายเรือขนส่งที่มีอายุมากจำนวน 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 6 ลำ

โดยส่งผลทำให้ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทจะมีเรือขนส่งเหลือ 4 ลำ แต่ทำให้อัตราการใช้งานเรือ (Utilization) ดีขึ้น และมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 70%

ขณะที่ ตลาดต่างประเทศต้องใช้เรือขนาดใหญ่ 100,000 ตันขึ้นไป ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่าง การหยุดและรอดูสถานการณ์ของตลาดต่างประเทศก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ซึ่งเป็นตลาดที่ทำให้ก่อให้เกิดกำไรน้อยมาก เนื่องจากธุรกิจต้องเป็นไปตามซีซั่น รวมทั้งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการเรือขนส่งขนาดใหญ่ บริษัทได้ปรับสัญญาเช่าเรือที่เป็นการขนส่งรายเที่ยว (Spot) มาเป็นสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (Time Charter) เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนน้ำมันของเรือขนส่งขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

-------------------

โบรกมอง “หุ้นเดินเรือผงกหัว

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุ จากดัชนีค่าระวางเรือที่เร่งตัวขึ้น QTD  อีก 21% ทำให้ทิศทางการทำกำไรของหุ้นในกลุ่มเดินเรือยังคงสดใส ผนวกกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืนระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ภาพของงบการเงินจะขยายตัวเด่นหากเทียบกับไตรมาสก่อน และ turnaround จากปีก่อนที่ผลดำเนินงานลดลง หรือ ติดลบ

ส่วนประเด็นสงครามการค้า มองว่าตราบใดที่อุปสงค์ยังไม่ถูกทำลาย กำแพงภาษีที่สร้างขึ้นมา จะยิ่งทำให้การขนส่งมีความยากลำบากมากขึ้น และเป็นการลดอุปทานเรือในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะดีต่อค่าระวางเรือในระยะกลาง-ยาว

อย่างไรก็ตาม มองว่าประเด็นสงครามการค้าเป็น sentiment ที่กดดันราคาหุ้นต่อไป ขณะที่พบว่าอุปทานเรือใหม่ 6 เดือนแรกเริ่มเร่งตัวขึ้นคิดเป็น 2/3 ของปีก่อน เช่นเดียวกับ การทำลายเรือเก่าทิ้ง ก็ลดลง 67% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังดัชนีค่าระวางเรือฟื้นขึ้น ส่งผลให้ supply growth รวมขยายตัว 1.6% ในครึ่งปีแรก

สะท้อนมุมมองที่เราคาดไว้กว่า การปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่ง (re-routing) จะทำให้อุปทานเรือลดลงไปจากตลาด และนำมาซึ่งอัตราค่าระวางที่ปรับตัวขึ้น

ด้าน บล.ฟิลลิป ระบุว่า ธุรกิจขนส่งทางเรือยังได้รับอานิสงส์จากค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยผู้ประกอบการในตลาดอย่าง TTA เริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/61 หลังจากไตรมาสแรกกำไรหดตัวถึง 90.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับผลดีจากธุรกิจขุดเจาะใต้ทะเลที่กลับมาดำเนินงานได้ดีขึ้นหลังจากที่ส่งเรือเข้าซ่อมบำรุง 2 ลำ ซึ่งในไตรมาส 2/61 จะเหลือเรือที่ยังซ่อมบำรุงอยู่เพียง 1 ลำเท่านั้น

ส่วนธุรกิจปุ๋ยจะได้ผลดีจากการเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกในเวียดนามและการส่งออกที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดีธุรกิจ UMS จะยังขาดทุนต่อเนื่อง ในขณะที่พิซซ่า ฮัท ยังเปิดสาขาเพิ่มโดยเน้นในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจาก Q1/61 ที่มีกว่า 400 ล้านบาท