8 เคล็ด (ไม่) ลับ...พิชิตมะเร็งได้ ด้วยพลังแรงใจ

8 เคล็ด (ไม่) ลับ...พิชิตมะเร็งได้ ด้วยพลังแรงใจ

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วยด้วยโรคมะเร็ง

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อทราบว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักมีความกังวลใจ หดหู่ หรืออาจเกิด ภาวะซึมเศร้า ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2560 ชี้ว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วย มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็ง จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ถึงประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

8 เคล็ด (ไม่) ลับ...พิชิตมะเร็งได้ ด้วยพลังแรงใจ


ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM กลุ่มผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง และปัญหาสุขภาพจากโรคต่างๆ แนะวิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วย หรือสร้างกำลังใจอย่างไรเมื่อเราเป็นผู้ป่วยเอง เพราะกำลังใจเป็นสิ่งแรกที่สำคัญในการร่วมเผชิญปัญหา และช่วยลดความวิตกกังวลทั้งตัวผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วย

1.ยอมรับแล้วก้าวต่อไป

ผู้ป่วย-ต้องยอมรับให้ได้ ยิ่งยอมรับเร็วเท่าไหร่ ก็จะจัดการปัญหาอย่างไรได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น เพื่อนหรือญาติ-ต้องเข้มแข็ง ยอมรับ และเข้าใจสถานการณ์ก่อน จึงจะไปสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยยอมรับได้อย่างมีพลัง

2.ลดความกังวล-เติมกำลังใจ

ผู้ป่วย-กล้าพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด เพื่อระบายความกังวลใจ และหาทางออกร่วมกัน เพื่อนหรือญาติ-ให้ผู้ป่วยได้ระบายความทุกข์ หลีกเลี่ยงการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติด้านร่างกาย และเรื่องแง่ลบ แล้วเติมความสุข ให้กำลังใจ

3.เข้าถึงรายละเอียดในการจัดการ

ผู้ป่วย-ต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมหาทางรักษา จนตัวเองเข้าใจและพอใจ รวมถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องระหว่างการรับการรักษา เพื่อลดความผิดพลาด เพื่อนหรือญาติ-หลังพบความเสี่ยงและได้ข้อสรุป ญาติต้องร่วมคิด ตัดสินใจ ตลอดจนการปฏิบัติตัวและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

4.ศึกษาเพิ่มเติมเสริมการรักษา

ผู้ป่วย-ควรรู้จักธรรมชาติของโรค เพื่อที่จะเข้าใจและตั้งรับถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอาการ ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่งเพื่อนหรือญาติ-ศึกษาหาข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างดีต่อเนื่อง

5.ออกกำลังกายและมีกิจกรรมไม่ขาด

ผู้ป่วย-ออกกำลังกายไม่หักโหม ช่วยให้ร่างกายสดชื่น นอนหลับสนิท กระตุ้นการอยากอาหาร การไหลเวียนเลือด และลดโอกาสท้องผูกเพื่อนหรือญาติ-พาผู้ป่วยออกกำลังกาย ขยับตัวสม่ำเสมอ นอกจากนั้นการนั่งเป็นเพื่อนคุย งานศิลปะและดนตรีอย่างง่ายๆ ที่ทำร่วมกันได้

6.ลาขาดจากสิ่งบั่นทอนสุขภาพ

ผู้ป่วย-งดหรือเลิก สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย รวมถึง ดูแลรักษา และควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน

เพื่อนหรือญาติ-คอยผลักดันให้ผู้ป่วย ลด ละ เลิก ให้กำลังใจ และคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างถนอมน้ำใจ ให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจเพื่อประสิทธิผลที่ดีในการรักษา

7.ปรับพฤติกรรมการกิน เติมความสดชื่น

ผู้ป่วย-พยายามกินอาหารบ่อยขึ้น แต่ต้องงดอาหารหวาน เพราะทำให้มะเร็งขยายตัวเร็ว และงดอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อการทำงานของไต หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารทอด ผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และควรงดอาหารที่จะกระตุ้นเซลล์มะเร็ง เช่น น้ำตาล หรือเนื้อแดง

เพื่อนหรือญาติ-ปรับเปลี่ยนสถานที่กินอาหารของผู้ป่วย ลดความจำเจ เปลี่ยนไปนั่งกินข้าวริมระเบียง หรือส่วนอื่นๆ ของบ้านที่บรรยากาศดี อากาศถ่ายเท มีแสงแดด หรือต้นไม้ดอกไม้

8.ตั้งเป้าหมายตบรางวัลให้ชีวิต

ทั้งผู้ป่วย และคนใกล้ชิดเอง ต้องมีหัวใจเดียวกันว่า การมีชีวิตอยู่ต่อนั้นมีความหมายมาก ทั้งต่อตัวเรา คนรอบข้าง ยังมีสิ่งที่ชอบ กิจกรรมที่อยากทำ สถานที่ที่ยังไม่ได้ไป หรืออะไรที่เรารัก ตั้งธงเป็นกำลังใจเลยว่า จะตายไม่ได้ จะหายดี แล้วจะได้ทำ จะได้ลอง จะได้ไปคว้าเอารางวัลที่รอคอย